ผลการศึกษาเศรษฐีร้อยล้าน 25,490 คนทั่วโลกเป็นครั้งแรกได้เผยให้เห็นถึงการเติบโตและอิทธิพลของผู้นำด้านเทคโนโลยี นักการเงิน ซีอีโอบริษัทข้ามชาติ และทายาทเศรษฐี ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงที่โลกเจริญรุ่งเรืองและตลาดเติบโต โดยคนรวยมากกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีการสะสมทุนเพิ่มขึ้นเร็วมากอันเป็นผลมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดของโควิด
รายงานเศรษฐีร้อยล้าน (The Centi-Millionaire Report) ที่เผยแพร่โดย เฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) บริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐาน (Investment Migration) ระดับโลก เผยให้เห็นว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 คนรวยมากคือคนที่มีเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป แต่ราคาสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่นั้น ส่งผลให้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่บ่งชี้ว่าใครรวยมาก
สหรัฐอเมริกามีเศรษฐีร้อยล้านมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 38% (9,730 คน) ของเศรษฐีร้อยล้านทั่วโลก แม้คนกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนเพียง 4% ของประชากรโลกทั้งหมดก็ตาม ส่วนตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียตามมาในอันดับ 2 และ 3 โดยมีเศรษฐีร้อยล้าน 2,021 คน และ 1,132 คนตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ โดยสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับ 4 (968 คน) และเยอรมนีตามมาติด ๆ ในอันดับ 5 (966 คน) ส่วนประเทศที่เหลือที่ติด 10 อันดับแรกคือ สวิตเซอร์แลนด์ (808 คน), ญี่ปุ่น (765 คน), แคนาดา (541 คน), ออสเตรเลีย (463 คน) และรัสเซีย (435 คน)
ตามรายงานนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีเส้นทางที่แน่นอนสู่การเป็นเศรษฐีร้อยล้าน แต่พบว่ามีความแตกต่างระหว่างรุ่นอายุที่น่าสังเกต ในขณะที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จได้กลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) ยังคงมีแนวโน้มที่จะครองแวดวงเศรษฐีร้อยล้าน แม้ว่าตอนนี้หลายคนจะขายหุ้นและขายธุรกิจของตนเองก็ตาม
มิชา เกลนนี (Misha Glenny) นักข่าวสายการเงิน นักเขียน และผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานเศรษฐีร้อยล้าน ระบุว่า ผู้ชายผิวขาวอายุเกิน 55 ปีจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มเศรษฐีร้อยล้าน แต่สถิติประชากรนี้กำลังเปลี่ยนไป "การเติบโตของเศรษฐีร้อยล้านในเอเชียจะสูงเป็นสองเท่าของยุโรปและสหรัฐอเมริกาในทศวรรษหน้า ด้วยอัตราการเติบโตราว 57% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดีย โดยเศรษฐีร้อยล้านในประเทศเหล่านี้จะแซงหน้ายุโรปและอเมริกา"
ประเทศที่คาดว่าจะมีเศรษฐีร้อยล้านเติบโตเร็วที่สุดในทศวรรษหน้าคือเวียดนาม ด้วยอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งถึง 95% สำหรับศูนย์กลางการผลิตเกิดใหม่ในเอเชียแห่งนี้ ตามมาด้วยอินเดียที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 80% ส่วนมอริเชียสซึ่งได้รับความนิยมในหมู่เศรษฐีร้อยล้านที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐีร้อยล้านที่ระดับ 75% สำหรับประเทศหมู่เกาะในแอฟริกาที่เอื้อต่อการทำธุรกิจแห่งนี้ ขณะที่อีกสามประเทศในทวีปแอฟริกาก็ติดอันดับเช่นกัน ได้แก่ รวันดา (70%), ยูกันดา (65%) และเคนยา (55%) นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ (72%) และออสเตรเลีย (60%) ก็คาดว่าจะมีการเติบโตที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน
เจฟฟ์ ออปไดค์ (Jeff Opdyke) นักเขียน นักเขียนบทความด้านการเงิน และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับโลก กล่าวว่า หลักการพื้นฐานของการรักษาความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะมีความมั่งคั่งระดับใดก็ตาม กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการถือครองสินทรัพย์ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดภายใต้สกุลเงินเดียว รัฐบาลเดียว รวมถึงระบบการเงิน ระบบภาษี และระบบกฎหมายเดียว ซึ่งมีความเสี่ยง "ในยุคที่ค่าเงินได้รับแรงกดดันจากหนี้สินและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ สถานะที่เป็นอยู่อาจถูกบ่อนทำลายได้โดยง่าย ดูอย่างเงินปอนด์อังกฤษที่มีมูลค่าลดลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน ซึ่งปอนด์เป็นสกุลเงินหลักของตะวันตก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ดอลลาร์อาจเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน"
ดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.henleyglobal.com/newsroom/press-releases/centi-millionaire-2022 และอ่านรายงานเศรษฐีร้อยล้านได้ที่ https://www.henleyglobal.com/publications/centi-millionaire-report-2022