5 ปราชญ์ชาวบ้านผลงานเด่น คว้ารางวัล"ต้นแบบสัมมาชีพ" ปี 2565

ศุกร์ ๒๑ ตุลาคม ๒๐๒๒ ๑๕:๒๙
มูลนิธิสัมมาชีพคัดเลือก 5 บุคคลรับรางวัล "ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบ"ปี 2565 เพื่อเชิดชูปราชญ์ท้องถิ่นที่นำความรู้ ประสบการณ์ สร้างสรรค์งานที่ก่อให้เกิดคุณค่าและเผยแพร่ความรู้ต่อสังคม ก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติในวงกว้าง
5 ปราชญ์ชาวบ้านผลงานเด่น คว้ารางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2565

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติเลือก 5 ปราชญ์ชาวบ้านที่มีผลงานความสำเร็จโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม รับรางวัล "ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ" ประจำปี 2565 โดยรางวัลดังกล่าว ทางมูลนิธิริเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลที่ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ ซึ่งได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ ร่วมเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้เข้าพิจารณาถึง 325 คน และคณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้าน 5 คนเข้ารับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ

นายมงคลกล่าวต่อว่า สำหรับบุคคลทั้ง 5 ที่ได้รับเลือกเป็นปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพประกอบด้วย นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนา จ.สุพรรณบุรี นายบรรจง พรมวิเศษ ผู้นำชุมชน จ.ปราจีนบุรี นางประภาพรรณ ศรีตรัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ จ.แพร่ นายเปลี่ยน สีเสียดค้า นักพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ จ.พะเยา และนายสุริยา ศิริวงษ์ ผู้นำแปรรูปมังคุด โดยบุคคลทั้งหมดมีผลงานความสำเร็จในแต่ละด้านแตกต่างกันไป

"บุคคลทั้ง 5 ท่าน เป็นผู้ที่เหมาะสมกับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ เพราะเป็นผู้ที่บุกเบิก พัฒนา สร้างสรรค์งานจนประสบความสำเร็จด้วยหลักสัมมาชีพ และยังนำเอาทักษะ ประสบการณ์ สร้างผลิตภัณฑ์ บริการที่ก่อให้เกิดคุณค่า มีการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมและก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ ขยายผล ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัด และสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศ" นายมงคลกล่าว

สำหรับผลงานความสำเร็จของปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพแต่ละรายนั้น นายชัยพร พรหมพันธุ์ มีผลงานโดดเด่นด้านการทำนาแบบลดต้นทุนและปลูกข้าวปลอดภัย โดยได้คิดค้นน้ำสกัดชีวภาพชนิดสมุนไพรป้องกันแมลง การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มากำจัดโรคข้าว การประดิษฐ์อุปกรณ์ เครื่องมือการเกษตรด้วยตนเอง เพื่อทุ่นแรงในการทำนา การปรับปรุงคุณภาพดิน สูตรปุ๋ยเพื่อบำรุงข้าว การคิดวิธีทำนาน้ำขังแบบแห้งสลับเปียก เพื่อลดการใช้น้ำและลดการระบาดของศัตรูข้าว นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ ถ่ายทอดวิธีการทำนาแบบลดต้นทุนให้ชุมชนอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่าง

ส่วนนายบรรจง พรมวิเศษ มีบทบาทด้านการเป็นผู้นำชุมชนและสามารถบริหารจัดการหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบของชุมชนจนประสบความสำเร็จ ผ่านการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ทั้งยังวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม นำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสร้างเขื่อนใต้ดิน จนปัจจุบันในพื้นที่ไม่ขาดแคลนการใช้น้ำในการเกษตร และเป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชสมุนไพร

นางประภาพรรณ ศรีตรัย ถือเป็นผู้ที่มีผลงานจากการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมฝีมือเกี่ยวกับการย้อมผ้าด้วยห้อมอันเป็นมรดกภูมิปัญญาของครอบครัว ทุนและอัตลักษณ์ทางสังคมให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ทั้งสร้างความโดดเด่นด้วยการออกแบบดีไซน์ที่สอดรับกับยุคสมัย พัฒนาลวดลายใหม่ๆ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และผนวกงานด้านท่องเที่ยวชุมชน อันเป็นการร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจของชุมชนและท้องถิ่น ไปพร้อมกันด้วย

นายเปลี่ยน สีเสียดค้า เป็นผู้ริเริ่มตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและมีผลงานด้านการทำปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ โดยจัดตั้งกลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพตำบลสันโค้ง นำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยหมัก ควบคุมปัจจัยความเหมาะสมของพื้นที่และสภาวะแวดล้อม เติมสารทางวิทยาศาสตร์ในจำนวนที่เหมาะสม (ฟอสเฟต ยูเรีย และสารเร่ง) ตลอดจนความเหมาะสมต่อพื้นที่ของชนบทที่มีลานกว้าง เป็นผู้สร้างความรู้และนำไปสู่การปฏิบัติจริง เข้าใจได้ง่าย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรไปสู่เกษตรแบบปลอดสารเคมี

สำหรับนายสุริยา ศิริวงษ์ มีผลงานสำคัญในฐานะที่เป็นผู้นำของชุมชนในวิสาหกิจชุมชนมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง นอกจากนี้ยังจัดการด้านผลิตผลมังคุด ด้วยการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การทำน้ำมังคุดพร้อมดื่มแบบเข้มข้น มังคุดแช่อิ่มอบแห้ง มังคุดกวน เยลลี ไอศกรีมมังคุด แชมพูจากมังคุด สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิจัยการผลิตสารสกัดแทนนินจากเปลือกมังคุดเพื่อนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ยาแต้มสิว โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมทั้งสร้างแบรนด์ของชุมชนชื่อ "Queeny"

ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิกล่าวต่อว่า พิธีมอบรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ จะมีขึ้นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยปราชญ์ชาวบ้านทั้ง 5 คนจะได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศและเงินสดคนละ 50,000 บาท และจะร่วมดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ผลงานร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้สนใจได้รับรู้และนำไปขยายผลต่อไป

สำหรับรางวัลสัมมาชีพต้นแบบ เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2560 โดยเริ่มมอบรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพให้นักธุรกิจผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ที่ก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ กระทั่งในปี 2565 จึงมอบรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพขึ้นเป็นปีแรก โดยรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพเกิดจากแนวคิดของนายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพที่ประสงค์ให้ปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ของการพัฒนาชุมชน ได้รับการเชิดชูเกียรติ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดสู่การพัฒนาแบบพึ่งตนเอง ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน

ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ