นายสุชาติ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ สังคม สร้างการเคลื่อนย้ายของภาคแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งถึงวันนี้ ประเทศได้ประกาศโควิด-19 อยู่ในระดับเฝ้าระวัง ซึ่งการดำเนินการดูแลภาคแรงงานในช่วงดังกล่าว ถือว่าอยู่ในระดับดีมากที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มองเห็นความสำคัญของภาคธุรกิจและภาคแรงงาน ซึ่งทรัพยากรมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้ให้การสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ จนสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตจนหลายอย่างของประเทศในวันนี้เริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น แรงงานสามารถทำงานได้ ธุรกิจไม่ต้องปิดตัว ทำให้ประเทศมีสินค้าสำหรับการส่งออก เป็นการช่วยพยุงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านแรงงานมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีจำนวนผู้ว่างงานเดือนสิงหาคม 2565 ลดลงมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ คือ พี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นเสมือนคนในครอบครัว ประกอบกับไตรภาคีของกระทรวงแรงงาน ทั้งภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง คอยสนับสนุนให้การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
นายสุชาติ ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้ยกตัวอย่างเป็นมาตรการที่สำคัญๆ อาทิ มาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 จากโครงการ Factory Sandbox สามารถสนับสนุนการผลิตสินค้า รักษาการส่งออกของประเทศได้ในขณะที่บางประเทศทำไม่ได้ ทำให้การส่งออกเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี การช่วยเหลือเยียวยาลดเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน โครงการเยียวยาภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การส่งเสริมการมีงานทำ การส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว การช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่กู้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานช่วงโควิด การช่วยเหลือการยกระดับทักษะฝีมือให้มีอาชีพ การใช้มาตรา 75 เพื่อรักษาการจ้างงาน โครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง การจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ การประกาศการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงภารกิจที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการในอนาคตว่า ในโลกปัจจุบันเป็นโลกยุคดิจิทัล โครงสร้างการประกอบธุรกิจและการทำงานมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะต้องเป็นไปอย่างมีระบบปรับเปลี่ยนให้ทันต่อรูปแบบการทำงานและอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งการทำงานในระยะต่อไป ผมยังมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือดูแลพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการ โดยมีนโยบาย ดังนี้ 1) ส่งเสริมการมีงานทำและการจ้างงาน โดยผลักดันการขยายตลาดแรงงานไปต่างประเทศ กระตุ้น ส่งเสริม รักษาการจ้างงาน รวมถึงบริการจัดหางานออนไลน์ สนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมการใช้ระบบประกันสังคมเป็นแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างดำเนินการให้มีสถาบันทางการแพทย์เพื่อผู้ประกันตน และการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตน รวมถึงบ้านพักคนชราตามมาตรา 33 2) ยกระดับฝีมือและพัฒนาทักษะแรงงาน ให้ความสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับเศรษฐกิจใหม่ เร่งรัดมาตรการยกระดับผลิตภาพแรงงาน เร่งสนับสนุนการพัฒนาแรงงานที่มีสมรรถนะสูง ยกระดับและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเศรษฐกิจระดับชุมชน 3) เร่งรัดการดูแลแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ และแรงงานคนพิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 4) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
"ผมขอขอบคุณคณะผู้นำแรงงาน รวมทั้งสหภาพแรงงาน สมาพันธ์ด้านแรงงานไทย สถาบัน องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ที่คอยให้ข้อมูลกับผมและกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อชี้แนะต่าง ๆ ตลอดจนให้ความสำคัญต่อบทบาทและนโยบายที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้ใช้แรงงาน สามารถแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างตรงจุด สร้างการทำงานเชิงรุก ให้แรงงานมีงานทำ ธุรกิจอยู่ได้ สร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ "นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด
ที่มา: กระทรวงแรงงาน