คุณวราภรณ์ สุชัยชิต หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 63 ปี วช. ได้ดำเนินงานที่มีบทบาทความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตามภารกิจของ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ในปี 2565 วช. ได้ขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อปักธงให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยให้ทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 โครงการ และแผนการวิจัยของ วช. มีส่วนช่วยแก้ปัญหาตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การมี mindset และ perspective นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก และอยากให้เรามีทักษะในการมองโอกาสในอนาคต ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะได้แลกเปลี่ยนกันในวันนี้
ศ.นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณมนุษย์สร้างความรู้ขึ้นมาโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่เมื่อถึงยุคฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance) เริ่มมีการศึกษาเชิงลึกทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ในทางการแพทย์จากเดิมที่เคยศึกษาเรื่องกายวิภาคศาสตร์โดยใช้อาจารย์ใหญ่ ก็เริ่มมาศึกษาเรื่องไมโครไบโอโลยี ศึกษาจุลชีพที่มองไม่เห็น แต่เมื่อมาเจอกับคนไข้ปรากฏว่าสิ่งที่เรียนมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบันได้ จึงเห็นถึงความจำเป็นของการเรียนและแก้ปัญหาแบบข้ามศาสตร์ เช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นการเรียนและแก้ปัญหาโดยใช้สองศาสตร์มารวมกัน การเสวนาในวันนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และศิลปะว่าจะรวมกันได้อย่างไร ทำไมจะต้องมีศาสตร์นี้ ขอบเขตของแต่ละศาสตร์เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หรือไม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา ราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ในความเป็นจริงมนุษยศาสตร์และการแพทย์ก็ถูกนำมาใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพและใจ ซึ่งเราจะพบได้ในบางคำที่เกิดขึ้น เช่น ศิลปะบำบัด โดยเฉพาะในสายนาฏศิลป์ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่นที่สหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้การละเล่นลาวกระทบไม้เพื่อบำบัดผู้ป่วยพาร์คินสัน 8 ราย ซึ่งเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ และมีวิทยานิพนธ์ในทำนองนี้อีกหลายเรื่อง เช่น ใช้การเต้นโขน เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อที่เป็นคู่ขนานกับกระดูกสันหลังให้แข็งแรง การใช้รำวงมาตรฐานเพื่อแก้ปัญหานิ้วล็อค การเกิดขึ้นของกลุ่มหมอออนไลน์ ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางด้านการแพทย์ไปประยุกต์ใช้ในสายมนุษยศาสตร์ ในฐานะที่เป็นคนไข้เมื่อไปหาหมอที่โรงพยาบาล ก็จะพบความเกี่ยวโยงระหว่างแพทยศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ในหลายๆ เรื่อง เช่น เมื่อคนไข้ไปพบหมอเพื่อรับการรักษาในแต่ละขั้นตอนกว่าจะได้รับการรักษามันเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ซึ่งบางครั้งต่างฝ่ายต่างก็มีอารมณ์ การปฏิบัติตัวของคนไข้กับแนวทางมาตรฐานในสายตาของหมอ การออกแบบสถานพยาบาลบางครั้งไม่ได้อำนวยความสะดวกให้คนไข้ การไม่มีคู่มือเพื่อเตรียมตัวในการพบแพทย์เพราะบางครั้งคนไข้ไม่รู้ว่าควรจะเตรียมอะไรบ้าง ประเด็นเหล่านี้มันทำให้เกิดวิกฤตการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องใจเย็นและค่อยๆ พูดกัน
รศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า มีบรรยากาศของความกลัวระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะบางครั้งคนไข้ไม่สามารถปฏิบัติตัวได้ตามที่หมอแนะนำ ส่วนหมอเมื่อเห็นผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็อาจจะดุใส่คนไข้ โดยที่ไม่รู้ว่าวิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างไร มีสังคม วัฒนธรรมอย่างไร มีระดับเศรษฐกิจอย่างไรที่ทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานทางการแพทย์ได้ มันจึงเกิดเป็นความทุกข์บีบคั้นทั้งคนไข้และหมอ ในช่วงโควิดที่ผ่านมามันทำให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันทางใจเรามีน้อยมาก เพราะเมื่อเรามีความกลัว ความกังวล มันก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เป็นหมอบางทีก็มีอารมณ์แบบของขึ้น เพราะคุยกับคนไข้ไม่รู้เรื่อง บางครั้งก็อยากตอบโต้ เราควรส่งเสริมให้มีการฝึกฝนสังเกตความคิดของตัวเอง เพราะเป็นเบื้องต้นของการเกิดสติ ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ มีความใคร่ครวญ สามารถปล่อยวางและจัดการกับภาวะบีบคั้นในใจของเราได้ เราจะเข้าใจมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าเรา จิตใจมั่นคง ภูมิคุ้มกันทางใจก็ดีขึ้น ในต่างประเทศมีการนำศิลปะแขนงต่างๆ มาเชื่อมโยงกับการเรียนด้านการแพทย์ เช่น การใคร่ครวญ การสืบค้น การสังเกตเข้ามาข้างใน เพื่อให้เห็นว่าคนไข้แต่ละคนมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน
รศ.ดร. สมถวิล ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า หมอเองก็มีปัญหาทางใจเหมือนกับคนไข้ ในระยะหลังๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนนักเรียนแพทย์ มีการนำมนุษยศาสตร์กับการแพทย์มารวมกัน ปรับหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนแพทย์ศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์การแพทย์ (Humanities Medical) สำหรับคนที่จะไปทำงานในสถานพยาบาล ซึ่งนอกจากมีจุดมุ่งหมายด้านสุขภาพแล้วยังพยายามทำให้แพทย์ไม่หมดไฟในการทำงานไปก่อน สาขาการเรียนที่เกี่ยวข้องได้แก่ Narrative medicine เป็นการใช้เทคนิคด้านการเล่าเรื่องราว การฟังและการซึมซับประสบการณ์ และการรับรู้และชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกัน ฝึกให้แพทย์ได้พูดและฟังคนไข้ ในบางครั้งก็จะมีเรื่องสังคมวิทยา ปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม หลังจากมีการผสมผสานหลักสูตรดังกล่าว ปรากฏว่าแพทย์ที่มีพื้นฐานด้าน Humanity และ Sociology มีความสามารถในการสื่อสารกับคนไข้ได้ดีกว่าพวกที่ไม่มีพื้นฐาน
ดร.นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ถ้าเราอยากสร้างแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ เราต้องนำมนุษยศาสตร์การแพทย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ถ้าเราจะเอาแนวคิดนี้ไปบูรณาการทางด้านการแพทย์ สิ่งที่เราจะต้องทำคือ 1) ขยายกรอบแนวคิดเรื่องสุขภาพและการเรียนรู้ระบสุขภาพ 2) ดูแลรักษาทั้งโรค ความเจ็บป่วย และความทุกข์ (ปัจเจกและสังคม) 3) เรียนรู้จากเรื่องเล่าและเรื่องราวชีวิตของเพื่อนมนุษย์และคนทุกข์ยาก 4) เรียนรู้ประวัติศาสตร์และปรัชญา เพื่อเข้าใจปัญหาในหลายมิติ 5) ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อหล่อหลอมวิธีคิดและสร้างสรรค์อุดมคติของชีวิต 6) เรียนรู้และปลูกฝังความละเอียดอ่อนด้านสุนทรียภาพและความงาม 7) ปรับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต 8) สร้างระบบบริการทางการแพทย์ที่ใส่ใจในมิติความเป็นมนุษย์ ถ้า วช. มีแผนงานวิจัยด้านนี้มันจะเป็นสิ่งมหัศจจรย์ที่มันจะเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องศิลปะบำบัด เอาการแพทย์มาเป็นศิลปะเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ในสังคม
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ