บำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อยอดศูนย์จักษุ เปิดตัว 'ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา' (Cornea Transplant Center)

อังคาร ๐๑ พฤศจิกายน ๒๐๒๒ ๑๕:๕๑
บำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อยอดศูนย์จักษุ เปิดตัว 'ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา' (Cornea Transplant Center) เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาที่ให้บริการครอบคลุมทุกการรักษาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับกระจกตา
บำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อยอดศูนย์จักษุ เปิดตัว 'ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา' (Cornea Transplant Center)

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาทางสายตาประมาณ 2.2 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือจากโรคต้อกระจก ที่ไม่ได้รับการแก้ไข รักษา ทั้งนี้ จากผลสำรวจ The first rapid assessment of avoidable blindness (RAAB) ในประเทศไทย ระบุว่าตาบอดสามารถป้องกันได้กว่า 92% และสามารถรักษาได้กว่า 76.8% โดยสาเหตุของสภาวะตาบอดเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ โรคต้อกระจก, โรคต้อหิน และโรคกระจกตา ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียการมองเห็น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีผู้คนทั่วโลกประมาณ 115 ล้านคน ที่จะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด และด้วยความมุ่งมั่นของบำรุงราษฎร์ที่ได้ยกระดับการรักษาสู่ขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) เพื่อให้การบริบาลดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม

ล่าสุดบำรุงราษฎร์ ได้จัดงานแถลงข่าวเปิด 'ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา' หรือ 'Cornea Transplant Center' นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาที่ให้บริการครอบคลุมในทุกการรักษาที่เกี่ยวกับกระจกตา โดยได้พัฒนาต่อยอดจาก 'ศูนย์จักษุ' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของบำรุงราษฎร์ที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งในการบริบาลทางการแพทย์โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านเกี่ยวกับดวงตาและทีมสหสาขาวิชาชีพ ผนวกกับการใช้นวัตกรรมขั้นสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ภายในงานได้รับเกียรติจาก ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ CEO โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเปิดงานแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงทีมจักษุแพทย์ ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วย พญ. เมทินี ศิริมหาราช หัวหน้าศูนย์จักษุ, นพ. ธีรวีร์ หงษ์หยก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา และรศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทยและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา ร่วมเสวนาถึงศักยภาพและความพร้อมในการดูแลรักษาโรคกระจกตา โดยมีคุณมยุรา เศวตศิลา เป็นผู้ดำเนินรายการ

วิธีการปลูกถ่ายกระจกตา จะเป็นการผ่าตัดเอากระจกตาของผู้ป่วยที่ขุ่นหรือเป็นโรคออก แล้วปลูกถ่ายด้วยกระจกตาของผู้บริจาค ข้อดีของการรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตา คือจะช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาบางหรือทะลุ และช่วยควบคุมการติดเชื้อที่กระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งการรักษาจะใช้กล้องผ่าตัดรุ่นใหม่ที่มีการผนวกเทคนิคที่ช่วยในการตรวจชั้นต่างๆ ของกระจกตาในระหว่างผ่าตัด (Microscope-integrated intraoperative optical coherence tomography) ช่วยให้การผ่าตัดกระจกตามีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ 1. การปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้น (Penetrating keratoplasty) กรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาขุ่นทุกชั้น (ซึ่งกระจกตามีทั้งหมด 5 ชั้นย่อย หรีอ 3 ชั้นหลัก คือ ชั้นผิวหรือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นหรือชั้นเยื่อบุ) หรือทำงานได้ไม่ดี การผ่าตัดวิธีนี้ จะผ่าตัดโดยเอากระจกตาทุกชั้นที่มีพยาธิสภาพออกและนำกระจกตาที่มีความหนาแบบเดียวกันและมีทุกชั้นใส่เข้าไปแทนที่ และ 2. การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น (Lamellar keratoplasty) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาเสียหายเฉพาะบางส่วน ก็จะทำการปลูกถ่ายเฉพาะบางชั้น ได้แก่ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นบน (Anterior lamellar keratoplasty) ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องตัดกระจกตาชั้นเยื่อบุโพรงหรือกระจกตาชั้นในสุดทิ้งไป จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายผู้ป่วยจะปฏิเสธกระจกตาที่เกิดจากการปลูกถ่ายได้ รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นอีกชนิดหนึ่งคือ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นเยื่อบุโพรงกระจกตาหรือกระจกตาชั้นใน (Endothelial keratoplasty) เป็นการนำเยื่อบุโพรงกระจกตาชั้นในที่มีพยาธิสภาพออก และทดแทนด้วยเยื่อบุโพรงกระจกตาจากดวงตาบริจาคที่นำมาปลูกถ่าย ซึ่งกระจกตาชั้นนี้มีความบางมาก ประมาณ 10-15 ไมครอน จึงเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมาก นอกจากนี้การผ่าตัดชนิดนี้ยังมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กเพียง 3-5 มิลลิเมตร ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มาก ที่สำคัญ มีการฟื้นตัวของสายตาที่เร็วมากนับเป็นสัปดาห์ เร็วกว่าการปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้นอย่างมาก

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการโรคกระจกตาที่ซับซ้อนมากขึ้น ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการหลากหลายสาขาที่พร้อมให้การบริบาลดูแลรักษาโรคที่ซับซ้อน และมีเทคนิคการรักษาที่หลากหลาย โดยบางครั้งแพทย์อาจต้องใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย เช่น Phototherapeutic Keratectomy (PTK) คือการรักษาโรคของกระจกตาด้วยเอ็กไซเมอเลเซอร์, การฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ เพื่อเสริมความแข็งแรงเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา และการผ่าตัดใส่วงแหวน เพื่อปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้วยสถานการณ์การจัดหาและบริการดวงตาของศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย พบว่าผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายกระจกตาจะต้องใช้เวลารอคิวบริจาคประมาณ 3-5 ปี ปัจจุบันยังมีผู้รอคอยดวงตามากกว่า 17,000 คน ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา อาจทำให้อาการผู้ป่วยจากที่เป็นน้อยๆ เริ่มเป็นมากขึ้น ส่งผลให้การรักษายากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กรณีที่เบาหวานขึ้นตาก็ไม่สามารถยิงเลเซอร์รักษาได้ ทำให้ภาวะของโรคแย่ลง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา

ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่มีศักยภาพและมีแนวทางในการดำเนินการจัดหาดวงตาบริจาคเพื่อนำไปผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นับเป็นการแบ่งเบาภาระจากภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาที่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตาให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพในเวลาที่เหมาะสมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพการมองเห็นและคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา ควรเข้ารับบริการตรวจ screening สุขภาพตาเป็นประจำทุกปี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 18 อาคาร A (คลินิก) หรือโทร. 0-2 011 3886 หรือโทร. 1378

ที่มา: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

บำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อยอดศูนย์จักษุ เปิดตัว 'ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา' (Cornea Transplant Center)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย
๐๙:๑๘ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัด Pitching day การเขียนโฆษณา และ การเล่าเรื่องผ่านแคมเปญ
๐๙:๔๔ รมว.เอกนัฏ โชว์ ดีพร้อม หนุนซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทย ในงาน ShowPow ต้อนรับปีใหม่ ส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น
๐๙:๓๒ กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล)
๐๙:๐๘ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ภายใต้โครงการ อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย
๐๙:๒๖ เวทางค์ หนุน PDPA Hackathon 2024 เฟ้นหาสุดยอดทีม IT Legal ชิงถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี
๐๙:๐๓ โรงกลั่นบางจาก ศรีราชา ประกาศความสำเร็จผ่านการรับรอง 4 มาตรฐาน ISO พร้อมกันในปีนี้
๐๙:๔๖ เอาใจนักเดินทางปีใหม่! เวียตเจ็ทไทยแลนด์เพิ่มเกิน 10,000 ที่นั่ง ตอบรับเทศกาลสุดพิเศษ
๐๙:๑๔ เคล็ดลับแปรงฟันให้สนุก ถูกใจวัยรุ่นฟันน้ำนม สุขภาพช่องปากลูกดี พ่อแม่แฮปปี้
๐๙:๓๔ สโกมาดิ กางแผนปี 68 เตรียมเดินหน้า เปิดโมเดลใหม่ - ขยายดีลเลอร์ - ปั้นคอมมูนิตี้ ย้ำดีเอ็นเอแบรนด์สกู๊ตเตอร์ บริทิช โมเดิร์น คลาสสิก