หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง เป็นหลักสูตรภายใต้แผนงานวิจัย "การพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชน ด้านการบริบาลผู้สูงอายุ" ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และถือเป็นผู้ผ่านการอบรม หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง รุ่นแรกที่ใช้หลักสูตรที่ผ่านการรับรองโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ของคณะเทคโนโลยีวิทยายาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์โดยการบูรณาการความร่วมมือกับ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยใช้ระบบจัดการหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุสำหรับนักบริบาลแบบผสมผสาน (Hybrid Learning) เทคโนโลยีช่วยสอนผ่าน Line Application เป็นการเรียนห้องเรียนทางไกล (Video Conference Learning) ในหมวดวิชาที่เน้นความรู้ ความเข้าใจ ผสมผสานกับการเรียนในชั้นเรียน (Classroom Learning) เพื่อฝึกปฏิบัติหมวดวิชาที่ต้องมีทักษะในการนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ โดยการควบคุมกำกับของครูพี่เลี้ยงในชั้นเรียน (Local Trainer) ตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๖ - ๒๕๖๙ คณะเทคโนโลยีวิทยายาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ยังได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนที่สนใจได้เข้าถึงวิชาชีพด้านการดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาต่อยอด เชื่อมโยงกับหลักสูตรผู้ดำเนินการการดูแลผู้สูงอายุ ๑๓๐ ชั่วโมง และหลักสูตร "การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ ๙๑ ชั่วโมง" เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการด้านการบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง สามารถเลือกเรียนเพิ่มเติม พร้อมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุ ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ สร้างศักยภาพการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยเนื้อหาวิชาและการฝึกปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุที่เป็นนวัตกรรม ผลผลิตจากงานวิจัยของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยภาคประชาสังคมที่สร้างผลกระทบได้ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อไป โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษานอกจากจะได้ใบประกาศนียบัตรที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตามมาตรฐาน ยังสามารถใช้องค์ความรู้และทักษะที่ได้จากการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ไปประกอบอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุในสถานบริการด้านการดูแลผู้สูงอายุ หรือเป็นผู้ดำเนินการในสถานประกอบการประเภทดังกล่าว อีกทั้งยังได้รับการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการที่เหมาะสม สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่ความสมดุลของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การมีสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งระดับบุคคล กลุ่ม และชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน
ที่มา: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์