นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ นางสาวสายสุณี ปั้นพงษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร นำทีมจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่แปลงเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย ณ ตำบลบึงเสนาท อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ให้คำแนะนำการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่เสียหายภายหลังประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาปัญหา พร้อมขยายผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
การลงพื้นที่ของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในครั้งนี้ ได้ตรวจเยี่ยมและพบปะเกษตรกร ถ่ายทอดและขยายผลองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้เกษตรกร โดยกรมวิชาการเกษตรมีคำแนะนำวิธีการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังประสบอุทกภัย ในเบื้องต้นเกษตรกรควรบำรุงรักษาให้พืชเกิดรากใหม่และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้อง ภายหลังน้ำท่วมขณะที่ดินยังมีน้ำขัง ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่และห้ามบุคคลรวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากพืช และควรเร่งระบายน้ำออกจากแปลงโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำ หรือใช้เครื่องช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด
"การให้คำแนะนำเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถพื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่เสียหายอย่างถูกวิธีหลังน้ำลดเป็นภารกิจเร่งด่วนของกรมวิชาการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการลงพื้นที่ให้คำแนะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากผลงานวิจัยกว่า 50 ปีแก่เกษตรกร โดยชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ ปฏิบัติการฟื้นฟูสวนไม้ผลและพันธุ์พืชให้กับเกษตรกรภายหลังประสบอุทกภัย จะลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านการจัดการพื้นที่หลังน้ำลด พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ ต้นพันธุ์ไม้ผล เช่น ฝรั่ง มะม่วง เมล็ดพันธุ์ไม้ผล เช่น มะละกอแขกดำ เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง กะเพรา โหระพา พริก และพืชอื่น ๆ ตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อปลูกทดแทนพืชเดิมที่เสียหายหรือตาย พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร เช่น ปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซา แหนแดง ชุดอุปกรณ์เพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบขาวงแหวนและมวนพิฆาต ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ เห็ดเรืองแสง ชีวภัณฑ์ BS DOA 24 เป็นต้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมลงพื้นที่ เช่น กลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ที่ลงพื้นที่ยังสามารถให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาด้านการเกษตรอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้อย่างครบวงจร" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร