เอสซีจีริเริ่มโครงการ "พลังชุมชน" ตั้งแต่ปี 2561 ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขยายการค้าขาย จนประสบความสำเร็จด้านการบริหารธุรกิจ สามารถปลดหนี้ สร้างรายได้มั่นคง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ทั้งเกิดเป็นเครือข่ายแบ่งปันความรู้ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอีกหลายคนเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง ปัจจุบัน มีผู้หญิงร่วมโครงการกว่า 400 คน จาก 14 จังหวัด สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กว่า 850 รายการ และส่งต่อความรู้ให้ชุมชนอื่นๆ ได้อีก 10,200 คน ทั้งนี้ เอสซีจีตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 50,000 คน ภายในปี 2573
ตัวอย่างผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จและพัฒนาตนเองตามแนวคิด พลังหญิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Women Empowerment) จากโครงการดังกล่าว ได้แก่ เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง จ.ลำปาง สร้างสรรค์ขนมคุกกี้ไส้สับปะรดเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของลำปาง และได้เสริฟให้ผู้นำเวทีการประชุม APEC 2022 Thailand ฟ้าเสรี ประพันธา จ.อุบลราชธานี เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรท้องถิ่น เช่น แปรรูปเม็ดกระบกหรืออัลมอนต์ป่าเมืองไทยให้มีหลายรสชาติ นำสมุนไพรพื้นบ้านมาทำเป็นน้ำพริกขายออนไลน์ทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นประธานบริษัท ไร่นาฟ้าเอ็นดู จำกัด มีรายได้เฉลี่ยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน มัจฉา สุดเต้ จ.อุบลราชธานี แปรรูปก๋วยจั๊บเส้นสด อาหารพื้นถิ่นของอุบลราชธานี ให้มี 20 รสชาติ ผ่านมาตรฐาน อย. จำหน่ายทั่วทุกภาค เสาวลักษณ์ ทองก๊วย คนพิการที่ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น แต่ไม่ยอมแพ้ ทำช็อคโกแกต สร้างแบรนด์ AsLi และเป็นครูสอนอาชีพให้คนพิการ สร้างแรงบันดาลใจให้มีพลังลุกขึ้นสู้
โครงการพลังชุมชน เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้หญิงพัฒนาศักยภาพของตนเอง ก้าวข้อจำกัดต่าง ๆ มีอาชีพ สร้างรายได้ และลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโต ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ ESG 4 Plus ของเอสซีจี "มุ่ง Net Zero 2050 - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ" ยึดหลักเชื่อมั่น โปร่งใส ที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมให้ดีขึ้น
ที่มา: เอสซีจี