นายศักดา ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ CH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม-กันยายน) บริษัทมีกำไรสุทธิ 43.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 30.70 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายที่ 470.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 363.02 ล้านบาท
ดังนั้น จึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) บริษัทมีกำไรสุทธิ 110.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 53.96 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 8.04% ของรายได้ และมีรายได้จากการขายที่ 1,380.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 1,089.22 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น เกิดจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น และอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง ซึ่งเป็นรายได้สัดส่วนหลักเพิ่มขึ้น
โดยรายได้หลักกว่า 87.88% มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 25.68% โดยเพิ่มขึ้นจากการขายในประเทศ 26.19% และเพิ่มขึ้นจากการขายต่างประเทศ 25.51% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์ขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งสินค้าระหว่างประเทศคลี่คลายลง อันเนื่องมาจากการปิดประเทศของจีน (Lock Down) ตามนโยบาย Zero-COVID ทำให้จีนมีความต้องการใช้เรือและตู้คอนเทนเนอร์ลดลง อีกทั้ง สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย หลังจากภาครัฐมีนโยบายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2564 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายเติบโตขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคามะม่วง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทในการผลิตผลไม้อบแห้งในฤดูกาลปี 2565 มีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าต่อหน่วยลดลง และส่งผลให้มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นในต้นปี 2565 ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่บริษัทมีต้นทุนสินค้าเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงสู่ภาวะปกติ โดยในช่วงต้นปี 2564 บริษัทมีต้นทุนสินค้าเฉลี่ยต่อหน่วยที่จำหน่ายในงวดสูงกว่าปกติอันเนื่องมาจากฝ่ายบริหารได้มีการพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายโบนัสในช่วงท้ายปี 2563 เพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 น้อยกว่าที่คาดการไว้
ดังนั้น จึงบันทึกค่าใช้จ่ายโบนัสเพิ่มเติมของพนักงานฝ่ายผลิตรวมเป็นต้นทุนของสินค้าคงเหลือล็อตที่ผลิตขึ้นหลังจากการพิจารณาค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มนี้จะบันทึกอยู่ในต้นทุนของสินค้าคงเหลือ ณ วันสิ้นปี 2563 จึงส่งผลให้ต้นทุนสินค้าคงเหลือต่อหน่วยล็อตดังกล่าว สูงกว่าต้นทุนสินค้าคงเหลือล็อตก่อนหน้า และต่อมาเมื่อบริษัทได้มีการขายสินค้าล็อตดังกล่าวไปภายในงวด จึงรับรู้ต้นทุนสินค้าคงเหลือดังกล่าวเป็นต้นทุนขายในงวด 9 เดือนของปี 2564 (รายการในงบกำไรขาดทุน) และส่งผลกระทบต่อกำไรขั้นต้น ซึ่งในงวด 9 เดือนของปี 2565 บริษัทไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ เกิดจากเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้บริษัทมีการประมาณการที่เหมาะสมขึ้น จึงสามารถทำให้อัตรากำไรขั้นต้นกลับสู่ระดับปกติและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ที่มา: เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น