นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม-กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้รวม 555 ล้านบาท เติบโต 49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 371 ล้านบาท โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากกลุ่มธุรกิจด้านวิศวกรรม (EPC Turkey) ที่ทำรายได้กว่า 410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% และมีรายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ทำได้ 7.8 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 1,538 ล้านบาท เติบโต 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,068.58 ล้านบาท ตามการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้านวิศวกรรมที่มีรายได้ 984.73 ล้านบาท เติบโตกว่า 55.39% ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ามีรายได้ 415 ล้านบาท เติบโต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในงวด 9 เดือนแรกทำได้ 42.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยต้นทุนก๊าซเพิ่มขึ้นทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องการผลิตในโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (SPP) ที่จังหวัดสระบุรีตั้งแต่ช่วงต้นปีและกลุ่มธุรกิจด้านวิศวกรรมมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง
"เราประสบความสำเร็จในการผลักดันรายได้เติบโตได้ดี จากกลุ่มธุรกิจด้านวิศวกรรมและธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า แต่กำไรสุทธิยังต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้นซึ่งเราวางแผนบริหารจัดการและควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของเรากลับมาโดดเด่นในปีถัดไป" นายเศรษฐศิริ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CV กล่าวว่า ส่วนภาพรวมการดำเนินงานในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50-60% โดยยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ที่อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของภาครัฐในสิ้นเดือนนี้ พร้อมรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ ร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะมีการลงนามได้ในปี 2566 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโลเคชั่นเพื่อให้เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ
2.) ธุรกิจด้านวิศวกรรม (EPC Turkey) ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 2,182 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ในปี 2566 ไม่ต่ำกว่า 60-70% โดยเตรียมเซ็นสัญญารับงานก่อสร้างในโปรเจคใหม่ๆ เพิ่มเติมทั้งในกลุ่ม Commercial และ Residential เพื่อรักษา Backlog ในมือให้มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท โดยได้มุ่งเน้นขยายประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการสู่ธุรกิจก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (Modular) เพื่อส่งมอบงานได้เร็วขึ้นและมีมาร์จิ้นที่สูงกว่าธุรกิจ EPC
3.) ธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิง (Fuel Supply) หลังจากเข้าลงทุนธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ในประเทศเวียดนาม ก็ได้รับปัจจัยเชิงบวกจากราคาเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ปรับตัวขึ้นทำให้ราคา Wood Pellet มีการปรับราคาสูงขึ้น ล่าสุดได้เริ่มรับรู้รายได้จากการขาย Wood Pellet แล้ว 40 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2565 พร้อมวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมจาก 8,000 ตัน เพิ่มเป็น 12,000 ตันต่อเดือน
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย