กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพใกล้เป็นจริง ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ทั้งด้านวิชาการ และกฎหมาย พร้อมเสนอเป้าหมายระยะเร่งด่วน เพื่อพัฒนามาตรฐานอาชีพในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์การแข่งขัน 15 กลุ่มงาน ในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ 36 อาชีพภายในปี 2550
นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและจัดระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ทั้งด้านวิชาการและกฎหมาย เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงาน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือเป้าหมายและแนวทางระยะเร่งด่วน (Fast Track)ภายใน 2550 และระยะปกติ (Normal Track) ภายในปี 2550-2551
โดยเป้าหมายและแนวทางระยะเร่งด่วน คือพัฒนามาตรฐานสมรรถนะในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันจำนวน 15 กลุ่มงาน ในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ 36 อาชีพ ในปีงบประมาณ 2550 โดยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อจัดทำชุดการเรียน (Module) การจัดการเรียนการสอนและฝึกอบรม และการประเมินผล
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ 15 กลุ่มในระยะเร่งด่วน ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร ในสาขาอาหารเครื่องดื่ม และสาขาพืชศาสตร์ งานกล้วยไม้ , กลุ่มเทคโนโลยีความงาม ในสาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น, กลุ่มการท่องเที่ยว, กลุ่มแฟชั่น-เครื่องนุ่งห่ม, กลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้และเครื่องเรือน, กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ, กลุ่มธุรกิจการโรงแรม, กลุ่มเซรามิกและแก้ว, กลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง, กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและยางพารา, กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน, กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม และกลุ่มมาตรวิทยา
ส่วนเป้าหมายและแนวทางระยะปกติ คือระบบคุณวุฒิวิชาชีพพร้อมกลไกความเชื่อมโยงตั้ง และการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในปี 2550-2551 โดยศึกษาวิเคราะห์เพื่อสร้างระบบคุณวุฒิวิชาชีพร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ให้สามารถเชื่อมโยงระบบการศึกษาและการฝึกอบรมที่พัฒนาสมรรถนะกำลังแรงงานสนองตอบยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในปี 2550
โดยได้ร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Vocational Qualifications Framework) ไว้ 7 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 ผู้ปฏิบัติงานอาชีพที่ใช้ทักษะพื้นฐาน, ระดับ 2 ผู้ปฏิบัติงานฝีมือเฉพาะทาง, ระดับ 3 ผู้ชำนาญงาน หรือหัวหน้างาน, ระดับ 4 ผู้ควบคุมดูแล หรือหัวหน้างาน นักเทคนิค, ระดับ 5 ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาระดับต้น, ระดับ 6 ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับกลาง และระดับ 7 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
ทั้งนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการมีระบบคุณวุฒิวิชีพที่จะเป็นกรอบมาตรฐานของชาติเพื่อการพัฒนาสมรรถนะกำลังแรงงานไทยซึ่งเป็นปัจจัยสำคํญในระบบการผลิตและบริการ ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการตามยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงโลกทางการศึกษากับโลกของการทำงานเข้าด้วยกันได้มากขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
โทร.02-281-5555 ต่อ 1009,1010
โสรยา โทร.01-697-9100