ปักหมุดจุดหมาย พลาดไม่ได้กับเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่คัดสรรภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คุณภาพจากทุกมุมโลกมานำเสนอให้เราได้ชมกันฟรีแบบยาว ๆ ถึงมากกว่าเดือนครึ่ง
ใช่แล้ว… เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ Science Film Festival ครั้งที่ 18 ปีนี้พบกันใน หัวข้อ โอกาสที่เท่าเทียมกันในวิทยาศาสตร์ (Equal Opportunities in Science) จากการผนึกกำลังจัดงานครั้งนี้ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ตลอดจนหน่วยงานหลักร่วมจัด
มองย้อนกลับไปในช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว แม้จะเป็นช่วงที่โลกยังมีเงาอึมครึมของโควิด-19 ทาบทาอยู่ แต่ความสนใจวิทยาศาสตร์ไม่เคยขาดตอน ปีที่แล้วเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 17 ได้รับความสนใจชมในบ้านเราถึง 286,823 คน จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีอย่างมีอนาคต แถมยังขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง อีกด้วย
ปีนี้เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ฯ เดินหน้าฉายให้ชมฟรี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน - 20 ธันวาคม 2565 พร้อมทั้งมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาภาพยนตร์กระตุ้นความสนใจเยาวชน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในส่วนภูมิภาค 17 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี ยะลา สระแก้ว ตรัง นครสวรรค์ ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ รังสิต นครพนม พิษณุโลก นราธิวาส ปัตตานี และนครราชสีมา
นอกจากนี้ยังรับชมได้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ขยายความถึงหัวข้อภาพยนตร์ในปีนี้ว่าธีม โอกาสที่เท่าเทียมกันในวิทยาศาสตร์ (Equal Opportunities in Science) นั้นหมายถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติใด ๆ ก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ นอกจากความแตกต่างทางเพศ อายุ เชื้อชาติแล้ว ยังหมายรวมถึงทางการศึกษา ภูมิหลัง วัฒนธรรมและผู้พิการ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างปราศจากอคติ ซึ่งแม้จะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่สามารถหาจุดร่วมเป็นข้อตกลงร่วมกันได้ อยู่ร่วมกันได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้
นอกจากนี้ยังเพิ่มความตระหนักในประเด็นความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ของกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม ซึ่งการศึกษาและการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ จะมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันเพื่อผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนในสังคม
"เป้าหมายของเทศกาลนี้มุ่งสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เยาวชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัว เพราะแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์เข้าถึงได้ง่าย อยู่รอบตัวเขานั่นเอง การเรียนวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้ยากอย่างที่คิด ช่วยจุดประกายให้เยาวชนเติบโตเป็นนักคิด สร้างนวัตกรรมเป็นพลังพัฒนาประเทศในอนาคต" ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
ขณะเดียวกันมุมบวกอีกด้านของการชมภาพยนตร์คุณภาพก็คือ กระตุ้นวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ครอบครัวสามารถทำร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันผ่านการชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสื่อที่ให้ทั้ง สาระควบคู่กับความบันเทิง ไม่น่าเบื่อ ทุกกลุ่มวัยสามารถเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันอย่างกลมกลืน
ภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกมาฉายในเทศกาลฯ นี้ที่ประเทศไทยมีจำนวน 33 เรื่อง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือภาพยนตร์บันเทิงศึกษาสำหรับครอบครัว ภาพยนตร์แอนิเมชัน หรือหนังสั้น ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ชีววิทยาและเทคโนโลยี ภาพยนตร์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
ประกอบด้วยภาพยนตร์จากนานาชาติทั้งหมด 17 ประเทศ โดยมีภาพยนตร์จากประเทศไทย 2 เรื่อง ได้แก่ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ตอน เจ้าฟองกล๊มกลม และ ตอน หอยทากกระดุ๊กดิ๊ก
พร้อมกันนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกและช่องทางการรับชมที่เข้าถึงเยาวชนและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ยังสามารถชมภาพยนตร์ผ่านออนไลน์ด้วยช่องทางสตรีมมิ่ง ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลโดยให้ผู้ชมกรอกรหัสผ่านก่อนเข้าชมภาพยนตร์ทุกเรื่องพากย์เสียงหรือเพิ่มคำบรรยายภาษาไทยเพื่อลดอุปสรรคทางด้านภาษา อีกด้วย
"ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปมาก เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่โรงเรียนและน้อง ๆ เยาวชนจะได้ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่พร้อมทั้งสาระและบันเทิง แล้วยังมีบูธกิจกรรมให้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินด้วย เลือกชมได้ตามความสนใจ และช่องทางที่สะดวก อย่าพลาดชมนะครับ" ผู้อำนวยการ สสวท. ชวนชมทิ้งท้าย
ปักหมุดจุดหมายดูรายละเอียดและเลือกศูนย์ฉายได้ที่ https://sciencefilm.ipst.ac.th
ที่มา: สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี