พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของการขับเคลื่อนศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชนกาธิเบศดำริ มุ่งเน้นการปฏิบัติงานที่ดี (Best Practice) ของการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวง (Royal Project Model) จากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 50 ปี ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความยากจนจากการปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานจะ สืบสาน รักษา และต่อยอด โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมในทุกมิติ
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานวิจัยบนพื้นที่สูงภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) มีกลไกการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานเครือข่าย 33 หน่วยงาน ทั้งในระดับ พื้นที่ จังหวัด และส่วนกลาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการขยายแนวทางตามแบบโครงการหลวงให้สามารถนำแบบอย่างของความสำเร็จด้วยองค์ความรู้โครงการหลวงไปปรับใช้ การพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ถูกกลั่นกรอง สัมฤทธิ์ผลมาแล้ว
สำหรับจุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง, สวพส. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในงานประชุมวิชาการจัดให้มีการแสดงผลงานนิทรรศการตัวอย่างของความสำเร็จจากเกษตรกรในพื้นที่สูงมาสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ หมวดองค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยี ได้แก่ ผลงานการวิจัยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตมะม่วงโดยการใช้ปุ๋ยแคลเซียมและโบรอน, ผลของพื้นที่การผลิตและช่วงระยะเวลาการผลิตที่มีผลต่อคุณภาพชาอู่หลง 2 สายพันธ์ในพื้นที่โครงการหลวง, การวิจัยและพัฒนาการปลูกเมลอนบนพื้นที่สูงในระบบ Smart Farming, การวิจัยการจัดการธาตุอาหารแบบแม่นยำสำหรับพืชเศรษฐกิจของพื้นที่สูง การศึกษาและพัฒนารูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานที่เหมาะสมกับบริบทบนพื้นที่สูง การพัฒนาแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับร้านกาแฟของมูลนิธิโครงการหลวง การศึกษาและทดสอบต้นแบบตลาดออนไลน์สินค้าเกษตรสำหรับกลุ่มเกษตรกรบนพื้นที่สูง
นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดประชุมครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมงานในทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้จากงานวิจัยที่ได้เกิดขึ้นจากการปฏบัติจริงของเกษตกรและเจ้าหน้าที่ สวพส. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้ เทคนิคประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และต่อยอดไปสู่การพัฒนาพื้นที่สูงอื่น ๆ ต่อไป ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ที่มา: เออาร์ไอพี