ม. มหานคร ฉีกกฎการเรียนวิศวะ! นศ. ปี 4 เน้นเรียนแบบ "Real-World Learning" ประเดิม 2 สาขา เริ่ม มิ.ย. 2566

พุธ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๐๒๒ ๑๔:๐๔
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ โชว์วิสัยทัศน์พัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาของผู้เรียน Gen Z และรุ่นต่อ ๆ ไป ในอนาคต ปลดล็อกการเรียนการสอนแบบรายวิชา สู่ 'การเรียนรู้นอกกรอบ' ที่ต้องลงมือค้นหา เน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน (learning outside the classroom) แบบ "Real-World Learning" โดยใช้โลกกว้างเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการเรียนรู้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกให้มีความรับผิดชอบ รู้จักแก้ไขปัญหา และกล้าตัดสินใจ เพื่อสั่งสมประสบการณ์โดยตรงและเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญกับสังคมคนทำงานของจริงที่มีการแข่งขันสูงทั้งในเชิงโครงสร้างและเทคโนโลยีในตลาดแรงงานยุคใหม่ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ใน 7 สาขา โดยจะเปิดประเดิม 2 สาขาแรก ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และออโตเมชัน ในปีการศึกษา 2566 และอีก 5 สาขา ได้แก่วิศวกรรมกระบวนการ วิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมโมบายซอฟต์แวร์ วิศวกรรมเครือข่ายและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมัลติมีเดียอาร์ต จะเริ่มในปีการศึกษา 2567
ม. มหานคร ฉีกกฎการเรียนวิศวะ! นศ. ปี 4 เน้นเรียนแบบ Real-World Learning ประเดิม 2 สาขา เริ่ม มิ.ย. 2566

เป็นเวลากว่า 33 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2533 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เติบโตขึ้นจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่โดดเด่นที่สุดและมีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบัณทิตที่ 'พร้อมใช้' และจะเป็น 'วิศวกร' และ 'นวัตกร' คุณภาพสูงซึ่งเป็นที่ต้องการและยอมรับของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้ เพราะแนวการเรียนการสอนของเราไม่ใช่แค่การให้องค์ความรู้ที่เป็นทฤษฎีอยู่ในตำราเรียนเท่านั้น แต่ MUT ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษามาโดยตลอด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมุ่งหวังว่า วิศวกรและนวัตกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญ ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศและยกระดับจากประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมุ่งสู่เป้าหมาย "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ของประเทศในอนาคต

MUT ในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชนที่เป็นแหล่งผลิตวิศวกรและนวัตกรเป็นจำนวนมากออกสู่ภาคอุตสาหกรรม การมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้นำแนวคิดเชิงอุตสาหกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะภาคปฏิบัติเหมือนอยู่ในสถานการณ์การทำงานจริง โดยในปี พ.ศ. 2563 MUT ได้เปิด สถาบันนวัตกรรมมหานคร (Mahanakorn Institute of Innovation) หรือ MII และ "บริษัทนวัตกรรมมหานคร" ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งการจัดการด้านงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ผลิตผลงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า หลักสูตรการเรียนนอกห้องเรียนแบบ "Real-World Learning" ตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาและความต้องการของเด็กสายวิศวะพันธุ์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจนแซด (Gen Z) และเจนต่อ ๆ ไป ทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีสูง (Technology savvy) เรียนรู้เทคโนโลยีได้ว่องไวและใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของเด็กวิศวะเลือดใหม่ให้แข็งเกร่งมากยิ่งขึ้น เราจึงปรับหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาวิศวะชั้นปีที่ 4 ซึ่งจากเดิมต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัติในสถานประกอบการพร้อมกับทำโปรเจ็คจบไปด้วย มาเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากการทำงานจริงใน 'บริษัทนวัตกรรมมหานคร' โดยเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษามาเป็นพนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร และบรรดาคณาจารย์ผู้สอนก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นวิศวกรหัวหน้างาน

MUT ออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ (Study Journey) และแนวการเรียนการสอนของนักศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นการเรียนตามหลักสูตรรายวิชาพื้นฐานเพื่อให้ปรับตัว สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 จะเน้นการเรียนแบบ Modular เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงโดยอิงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ความสนใจและบริบทของสังคมที่พลิกผันตลอดเวลา แต่ยังคงเน้นแนวการเรียนการสอนแบบ Problem-based Learning คือเน้นการนำปัญหามาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นการเรียนรู้ในโลกแห่งความเป็นจริง (Real-World Learning) จากการปฏิบัติงานจริงกับศูนย์นวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจมหานคร และ บริษัทนวัตกรรมมหานคร ที่ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เน้นพัฒนาทักษะทั้งด้าน soft skills และ hard skills เพื่อใช้ "หัวใจ" และ "สมอง" ในการทำงานควบคู่กันไป เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานให้แก่นักศึกษา อันจะส่งผลให้นักศึกษาเติบโตและพร้อมออกไปทำงานได้จริงหลังสำเร็จการศึกษา

"เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น เราจึงได้ลงทุนซื้อซอฟต์แวร์ระดับใช้งานจริงในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม มาให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในศูนย์นวัตกรรมมหานครและบริษัทนวัตกรรมมหานคร รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน (Business English) เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับหลังสำเร็จการศึกษาจาก MUT นอกจากปริญญาบัตรแล้ว ยังจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกอบรมและทำงานในสาขานั้น ๆ เช่น ไมโครซอฟท์ ออราเคิล ฯลฯ พร้อมประสบการณ์การทำงานจริงในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกรเป็นเวลา 1 ปีอีกด้วย" ดร. ภานวีย์ กล่าวเสริม

อนึ่ง บรรดาคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มากประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ล้วนมีบทบาทสำคัญ อาทิเป็นที่ปรึกษา เป็นบอร์ดบริหารในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และมีสายสัมพันธ์ด้านความช่วยเหลือร่วมมือทางวิชาการที่ดีกับภาครัฐทำให้ MUT ได้ภาพที่ชัดเจนว่า ตลาดงานต้องการใช้ทักษะอะไรจากนักศึกษาของเรา เราก็จัดการติดตั้งทักษะนั้นอย่างเข้มข้นให้แก่นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรแนวใหม่ของเรา หรือ หากนักศึกษาต้องการจะเข้าปฏิบัติงานในองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทนวัตกรรมมหานคร เราก็มีเครือข่ายความร่วมมือที่จะฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้ ดังนั้น นี่คือคำตอบที่ว่าทำไม MUT จึงเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทำไมบัณฑิตวิศวะของ MUT จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

ที่มา: แพมพลัสพลัส

ม. มหานคร ฉีกกฎการเรียนวิศวะ! นศ. ปี 4 เน้นเรียนแบบ Real-World Learning ประเดิม 2 สาขา เริ่ม มิ.ย. 2566

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ