ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ผักร่วมใจบางเตย อำเภอสามโคก ประสบปัญหาแมลง ด้วงหมัดผักในระยะแตกใบอ่อน และหนอนใยผัก ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตมากกว่า 70% ทีมวิจัย วว. ได้ไปทำแปลงสาธิตโดยใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมีพบว่า ผักที่ได้มีต้นสมบูรณ์ ช่วยลดปัญหาแมลง ลดระยะเวลาการผลิตสั้นลง โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 25 วัน (จากเดิมจะใช้ระยะเวลา 30 วัน) อีกทั้งช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในกระบวนการผลิตพืชลงด้วย
อนึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2565 วว. ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี กำหนดจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเชื้อเหลวด้วยถังหมักอย่างง่ายโมเดล วว." ให้กับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 6 แห่ง คือ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนอำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอหนองเสือ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอคลองหลวง และอำเภอสามโคก
ทั้งนี้ วว. มีความเชี่ยวชาญและจุดแข็งด้านชีวภัณฑ์ คือ มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงาน ICPIM 2 ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาถังหมักระดับชุมชน ในรูปแบบถังสแตนเลสและถังพลาสติก ที่สามารถตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม
โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในส่วนของ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ ICPIM 2 มีกำลังการผลิตสารชีวภัณฑ์รวมต่อปี 115,000 ลิตร มีสายการผลิต "สารชีวภัณฑ์" ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช เพื่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน วว. สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อผง และหัวเชื้อสด ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ ตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่
สอบถามรายละเอียดการจัดอบรม /ข้อมูล รวมทั้งขอรับบริการเกี่ยวกับชีวภัณฑ์ ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9016, 02-577 9021 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : [email protected]
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย