จากการเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว วว. ได้รับทราบสถานการณ์การทำงานของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้จน และได้สร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านอาหารเพื่อสุขภาพร่วมกับ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคใต้ ได้แก่ 1) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 3) มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง 4) มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 5) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ 6) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งได้รับทราบนโยบายการพัฒนาพื้นที่แก้จนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในปีหน้าที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีกับการตลาดเพิ่มมากขึ้น (Demand and Supply matching) ซึ่งคาดว่า วว. จะมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้จน ในฐานะผู้ผลิต appropriate technology for commercialization
อนึ่ง วว. ดำเนินโครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน ในปีงบประมาณ 2565 เพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (วทน.) สนับสนุนทุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ดำเนินงานโครงการครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย นครราชสีมา ยะลา นราธิวาส และพัทลุง
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย