บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำ "โครงการ Osotspa Go Green ปลูกต้นไม้เพื่อคนกรุงเทพฯ" โดยตั้งเป้าหมายปลูกต้นไม้ 10,000 ต้น ภายใน 4 ปี ( 2565 - 2568) ซึ่งครั้งนี้เป็นการนำร่องปลูกจำนวน 2,500 ต้น เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 4 ไร่ ริมถนนศรีนครินทร์และถนนกรุงเทพกรีฑาเป็นสวนป่าผสมผสานด้วยสายพันธุ์ที่ให้ดอกไม้สีเหลือง เช่น ต้นสุพรรณิการ์ ต้นเหลืองปรีดียาธร ต้นราชพฤกษ์ ต้นประดู่ ต้นทองอุไร ต้นชะแมบทอง ต้นบานบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สำนักงานใหญ่ ได้แก่ ต้นกฤษณา ซึ่งเป็นพืชที่นำมาใช้ผลิตยากฤษณากลั่น ยาที่ช่วยบำบัดอาการท้องร่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย พร้อมมอบต้นไม้ให้กับพนักงานและประชาชนในชุมชนรอบข้างนำไปปลูก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่บ้านของตนเองด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดี ซึ่งเกิดจากการที่ทุกฝ่ายอยากร่วมกันสร้างเมืองที่น่าอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวกรุงเทพฯ การที่โอสถสภาร่วมปลูกต้นไม้ครั้งนี้เป็นของขวัญที่มีคุณค่ามหาศาล เพราะเกิดจากการรวมพลังของผู้คนมากมาย และไม่ได้เป็นเพียงสำหรับชาวกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้เป็นของขวัญสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย
ด้านนางวรรณิภากล่าวว่า โอสถสภามีวิสัยทัศน์ "พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต" และมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีนโยบายดูแลและลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อาทิ การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกน้อยลงและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ รวมถึงการสร้างพลังสีเขียวในชุมชน ส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยโดยรอบสำนักงานและโรงงาน ร่วมกันคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขวดแก้วที่ใช้แล้ว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้วใหม่ จึงพร้อมเป็นพลังสนับสนุนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงของกทม. อย่างเต็มที่ ประกอบกับกำลังเข้าสู่ช่วงท้ายปีแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่พนักงานของบริษัทฯ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นไม้ให้เป็นแหล่งสร้างออกซิเจน เป็นเสมือนปอดที่ช่วยลดฝุ่น-มลพิษ สร้างร่มเงา และส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศ อีกทั้งเป็นของขวัญให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณบางกะปิได้ใช้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนต่อไป
ที่มา: โอสถสภา