นางสาวธิญาดา เมฆพงษ์สาทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) หรือ ABM ผู้ประกอบธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกะลาปาล์ม, กลุ่มไม้สับและส่วนอื่น ๆ ของไม้, กลุ่มขี้กบ ขี้เลื่อย และฝุ่นไม้, กลุ่มชีวมวลอัดแท่ง และกลุ่มสินค้าอื่น ๆ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ABM และ บริษัท แอท เอนเนอจี โซลูชั่น จำกัด หรือ AT Energy ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ "Energy Transformation" เพื่อแสดงถึงความร่วมกันในการให้บริการลูกค้าที่ติดตั้ง Boiler กับทาง AT Energy ซึ่งจะเลือกใช้เชื้อเพลิงชีวมวลของ ABM จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่กลุ่มเชื้อเพลิงที่เป็น Carbon-Neutral 2. เพื่อร่วมกันส่งเสริมและขยายผลการประยุกต์องค์ความรู้สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวลให้เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม 3. ศึกษาการนำไปใช้ การรับรองปริมาณ และการแลกเปลี่ยน Carbon-credit เพื่อเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็น Net-zero Emission และ4. เพื่อร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งระยะยาวในการเป็นกลุ่มผู้นำธุรกิจเอกชนด้านพลังงานสะอาด
สำหรับกรอบแนวทางของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อสร้างศูนย์กลาง Energy-Transformation โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและเพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านพลังงานชีวมวลระหว่างบริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท แอท เอนเนอจี โซลูชั่น จำกัด รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ บริษัท แอท เอนเนอจี โซลูชั่น จำกัด เข้าไปดำเนินการขายไอน้ำให้ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ถึง วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567
"การ MOU ครั้งนี้ จะส่งเสริมให้ทั้งสองบริษัทได้ใช้ความเชี่ยวชาญที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะร่วมมือกันจัดหาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อนำมาผลิตและจำหน่ายให้กับลูกค้าได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงที่สุด" นางสาวธิญาดา กล่าว
นางสาวธิญาดา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังในการใช้พลังงานสะอาดแก้ปัญหาสภาพอากาศ ลดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง ABM ในฐานะผู้นำในการให้บริการจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลหลากหลายประเภทให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลในกระบวนการผลิตทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น ๆ แทนพลังงานฟอสซิล รวมทั้งสนับสนุน Green Economy ลด Carbon Footprint ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ABM ได้กำหนดยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจ Green Transformation เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัล เข้ามาใช้ในการวางรากฐานเป้าหมายและดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้าในอนาคต ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานสิ้นเปลือง หรือพลังงานฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน รวมทั้งหินน้ำมัน ทรายน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ มาเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ซึ่งเป็นพลังงานที่ผลิตได้จากการนำวัสดุชีวมวล มาผ่านกระบวนการแปรรูปจนได้ก๊าซ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดรายจ่ายให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานอย่างครอบคลุมแบบครบวงจร นับเป็นการสร้าง New S-curve ของ ABM ที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ด้าน นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสองบริษัทครั้งนี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการยุติถ่านหินใน Boiler หรือเตาต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม เป็นการสนับสนุนให้ผู้ที่มี Boiler หรือใช้เชื้อเพลิงเก่า ๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ฯลฯ หันมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวมนุษย์โลกและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
"เราต้องช่วยกันรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะสาเหตุที่เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันทำคือการประหยัดไฟฟ้า ต่อมาคือการคมนาคมขนส่งและควรใช้ดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้พาหนะในการเดินทาง ถ้าหากจำเป็นก็ควรเลือกใช้รถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นผู้ผลิตควรเลือกเชื้อเพลิงที่ถูกต้องที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เลือกผลิตเองโดยใช้ Renewable ดูแลเรื่องการแยกขยะ เนื่องจากขยะจะปล่อยก๊าซมีเทนมีสู่ชั้นบรรยากาศ ในส่วนของด้านของเศรษฐกิจ ในพื้นที่ของโรงงานก็ควรมีการเพิ่มพื้นที่ของต้นไม้หรือทำโปรเจกต์เพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก Carbon-credit ที่ได้จากการปลูกป่า สามารถนำมาลบการปล่อยคาร์บอนด์ นำไปสู่ Net Zero ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของหลายองค์กรในโลกนี้ เช่นเดียวกับการ MOU ระหว่าง ABM และ AT Energy จะเป็นต้นแบบสำคัญในการร่วมมือกันลดโลกร้อนในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม" นายเกียรติชาย กล่าว
ที่มา: เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น