นายชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึง แนวโน้มการใช้พลังงานในประเทศไทยนั้นยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของจำนวนประชากรโดยรวม สอดคล้องกับภาพรวมในระดับโลก ที่ยังคงต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ทั่วโลกสามารถจัดการและรับมือกับวิกฤตพลังงาน โดยอาศัยการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ หรือ Energy Trilemma คือความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในระหว่างที่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดต้องใช้เวลา พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการร่วมดูแลโลกให้ยั่งยืนผ่านการดูดซับคาร์บอนทั้งทางธรรมชาติและด้วยเทคโนโลยี อาทิ Carbon Capture, Utilization, and Storage หรือ CCUS รวมถึงมองหาทางเลือกพลังงานใหม่ ๆ อย่าง ไฮโดรเจน เข้ามาเสริม เป็นต้น และกล่าวถึง Taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดกลุ่มการลงทุนที่ช่วยลดคาร์บอน สนับสนุนการปรับตัวของไทยสู่เป้าหมาย Net Zero
นอกจากนี้ ยังได้เล่าถึงธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 กลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน และ 1 สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยมีการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกำหนดแนวทาง BCP 316 NET เพื่อตอบสนองเป้าหมายดังกล่าว และยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ 'รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว' และแนะนำ ตราสัญลักษณ์ใหม่ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนเมื่อเร็ว ๆ นี้
ที่มา: บางจาก คอร์ปอเรชั่น