ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่คุมเข้มส่งออกทุเรียนใต้ สยบปัญหาทุเรียนอ่อนและสวมสิทธิ์ กรมวิชาการเกษตรยืนยันทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์กลางเดือน ธ.ค. แน่นอน

พุธ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๒ ๑๓:๔๘
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจราชการพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยได้มอบนโยบายและแนวทางพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับตลอด Supply Chain ทุเรียนส่งออกไปจีน การยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ "Premium Thai Fruits" พร้อมกับมอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP พืช และเยี่ยมชมสวนทุเรียนที่ได้รับการรับรอง GAP และการแปรรูป (ทุเรียนแช่เยือกแข็ง) หลังจากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพและศัตรูพืชทุเรียนของเจ้าหน้าที่ในโรงคัดบรรจุผลไม้ศิริมงคล คอร์เปอเรท กรุ๊ป ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่คุมเข้มส่งออกทุเรียนใต้ สยบปัญหาทุเรียนอ่อนและสวมสิทธิ์ กรมวิชาการเกษตรยืนยันทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์กลางเดือน ธ.ค. แน่นอน

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนขณะนี้ไม่ได้มีไทยประเทศเดียวยังมีประเทศเวียดนาม และอาจมีประเทศอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้นการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้ประกอบการส่งออก และหน่วยงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทางทุเรียนไทย สร้างความแตกต่าง จุดเด่นที่สำคัญคือมาตรฐานและคุณภาพของทุเรียนไทย ไม่ให้มีทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปยังประเทศผู้บริโภคเพื่อรักษาภาพลักษณ์และตลาดการส่งออกให้ยั่งยืน เป็น"ทุเรียนไทยดีที่สุดในโลก (Thai durian is the best in the world)" อีกทั้ง ต้องการให้การส่งออกทุเรียนสดไทย มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนเป็นภาพลักษณ์โดดเด่น และยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศจีน ดังนั้น ผลผลิตจากสวนของเกษตรกร โรงรวบรวมและคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช ตลอดจนการขนส่งและการตรวจสอบย้อนกลับ ควรที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกัน โดยภารกิจติดตามมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีนที่ได้มอบให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการนั้น จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทย

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่จ.ระยอง และจันทบุรีในระว่างวันที่ 29 - 30 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเร่งรัดติดตามการออกทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้ง 80,000 ฉบับสำหรับภาคตะวันออกในต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะครบ 100 % ทั้งประเทศภายในกลางเดือนธันวาคมนี้แน่นอน ขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไม่ต้องกังวล พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่กับนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคมนี้ เพื่อควบคุมกำกับดูแลคุณภาพทุเรียนใต้ รวมถึงป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิ์ตามนโยบาย Zero สวมสิทธิ์ โดยการเปลี่ยนแปลง GAP รูปแบบใหม่นั้นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต ซึ่งจะเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียนและผลไม้ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย GAP รูปแบบใหม่ที่จะใช้ในเดือนมกราคม 2566 จะดำเนินการเสร็จทันแน่นอนทั้งภาคตะวันออกและทั่วประเทศ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับทุเรียนในฤดูกาลหน้า โดยในส่วนของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) ดำเนินการได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช (ศวพ.นครศรีธรรมราช) ติดตามทวนสอบประเด็นปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตทุเรียนนอกฤดูเพื่อการส่งออก (ต.ค-ธ.ค) ซึ่งศวพ.นครศรีธรรมราชได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้แก่ หัวหน้าราชการส่วนจังหวัด อำเภอ ผู้ประกอบการ เกษตรกร มือมีดตัดทุเรียน ตำรวจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพื้นที่แล้วนั้น พบว่าไม่ได้มีการตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายหรือส่งออกแต่อย่างใด แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากและต่อเนื่องในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู ทำให้น้ำปะปนในเนื้อทุเรียนมาก ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนบางส่วนที่จำหน่าย เนื้อแฉะ ไส้ซึม เนื้อมีสีเหลืองครีมปนขาว ทุเรียนด้อยคุณภาพ ตลาดไม่ต้องการ แต่ไม่ใช่ทุเรียนอ่อน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรับซื้อผลผลิตเกษตรกร เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งค่ามัดจำสัญญา ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นผลผลิตด้อยคุณภาพปะปนไป แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยอมทิ้งค่ามัดจำสัญญาเพราะผลผลิตไม่มีคุณภาพเนื่องจากเนื้อแฉะจากการได้รับน้ำมากเกินไประหว่างติดผลผลิตบนต้นก่อนการเก็บเกี่ยว

"ทุเรียนไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยมีลักษณะทรงผลค่อนข้างยาว ปลายผลแหลม หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ก้านผลใหญ่แข็งแรง เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน ส่วนใหญ่เมล็ดลีบ ซึ่งไม่มีทุเรียนประเทศใดมีลักษณะเฉพาะตัวเช่นนี้ ทุเรียนไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยไม่ส่งทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพออกไปเด็ดขาด" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๑๕:๒๐ ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๑๔:๑๗ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๑๔:๔๓ อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ