นางสาววรชนาธิป เปิดเผยถึงโมเดลการพัฒนาท้องถิ่นด้วยคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้มีการหารือว่า ได้รับแนวนโยบายจากผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาคนในท้องถิ่นชุมชน หลังได้รับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงล่าสุดที่ได้มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ อบจ. ซึ่งการใช้ประโยชน์จากคุณวุฒิวิชาชีพจะช่วยเพิ่มคุณภาพในการปฏิบัติงานให้บุคลากรให้มีสมรรถนะในการทำงานสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับให้ท้องถิ่นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข ด้วย รวมถึงผลักดันให้เกิดการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในสถานประกอบการ นำไปสู่การยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพในการใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคน และกำลังแรงงานของท้องถิ่น
นางสาววรชนาธิป ยังกล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีพร้อมประกาศตัวเป็นจังหวัดนำร่อง และจะมีการขยายไปยังจังหวัดอื่นทั้ง 4 ภูมิภาคต่อไป โดยแนวทางความร่วมมือจะร่วมกันดำเนินการอบรม พัฒนาสมรรถนะในการประกอบอาชีพให้ตรงตามมาตรฐานอาชีพไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ด้านบริการ การท่องเที่ยว เกษตรและอุตสาหกรรม ให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และศักยภาพของพื้นที่ ก่อนจะมีการรับรองด้วยคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และต่อยอดแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยสร้างสังคมที่แข็งแรง เพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
นายบุญชู นายกสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย ยอมรับว่าเป็นแนวทางที่ดีที่ สคช. เข้ามาร่วมพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่น โดยจังหวัดสุพรรณบุรีพร้อมเป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับบุคลากรของ อบจ. เอง ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาด หรือประชาสัมพันธ์จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้บุคลากรสายบริการในอาชีพเสริมสวยให้มีโอกาสได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ และต่อยอดนำไปสู่การขอสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากธนาคารออมสินมาแล้ว ล่าสุดจังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นต้นแบบของการถ่ายโอน รพ.สต. จึงเล็งเห็นว่าการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพจะช่วยส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ปฏิบัติงานได้ตรงตามมาตรฐาน นำไปสู่การต่อยอดในการเพิ่มรายได้ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ที่ได้รับการดูแลด้วย ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรี จะให้ความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่นเพื่อเป็นต้นแบบขยายต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย
ที่มา: สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ