นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า "SCGC ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG พร้อมพัฒนานวัตกรรมภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง SCGC จึงริเริ่ม "โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ" เชื่อมโยง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะ โดยให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มการรีไซเคิล และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน"
"นอกจากนี้ SCGC ยังได้ต่อยอดสู่การจัดการขยะในโรงเรียน โดยมีโรงเรียนนำร่องในจังหวัดระยอง ซึ่งพบว่ามีขยะจากถุงนมเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็น 'โครงการถุงนมกู้โลก' ขึ้น เน้นให้เยาวชนเกิดความรู้ความเข้าใจเชิงประจักษ์ สร้างประสบการณ์จริงในการจัดการทรัพยากรเหลือใช้ และการหมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ โดย SCGC ได้ออกแบบฐานการเรียนรู้ร่วมกับคณะครู พร้อมทั้งนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและการออกแบบมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้ว เปลี่ยนจากถุงนมโรงเรียนที่ใช้งานเพียง 10 นาที เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม อย่าง 'เก้าอี้รีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน' สามารถใช้งานได้ยาวนาน สร้างตัวอย่างการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชุมชนและประเทศต่อไป" ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม กล่าวเสริม
นายวิชัย เตชจินดาวงศ์ Performance Polymers Business Director เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า "โครงการถุงนมกู้โลกเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่าการรีไซเคิล ทั้งภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหาขยะในโรงเรียนด้วยนวัตกรรม ทำให้ถุงนมใช้แล้วซึ่งเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ สามารถหมุนเวียนสร้างประโยชน์ได้อีกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อถุงนมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จะผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติจนได้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่พร้อมนำไปขึ้นรูปใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน ชุบชีวิตพลาสติกใช้แล้วให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง ช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นโมเดลต้นแบบที่สามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ได้อีกมาก"
ทั้งนี้ SCGC ได้ขยายผล โครงการ SCGC ถุงนมกู้โลก โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.ส.) เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการอีโคสคูล (Eco-School) สู่เป้าหมาย Zero Waste School ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนจำนวนมากเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบ ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการถุงนมกู้โลกแล้วกว่า 1,700 โรงเรียน จาก 33 จังหวัดทั่วประเทศ มีปริมาณถุงนมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลแล้วกว่า 1 ล้านถุง (ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2565)
โดยในปี 2565 นี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดแคมเปญการตลาดทั้งสิ้น 73 ผลงาน จาก 39 องค์กร ทั่วประเทศ ทางสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้ใช้เกณฑ์และขั้นตอนการตัดสิน ร่วมกับคณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาจากหลากหลายวงการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับโลกการตลาดยุคใหม่ โดยได้จัดพิธีประกาศผลรางวัล "Marketing Award of Thailand: สุดยอดแคมเปญการตลาด" ณ โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565
ที่มา: เอสซีจี