ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2565) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120-159) เพิ่มขึ้น 14.3% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 124.42
- ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในระดับ "ร้อนแรง"
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED
"ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกนักลงทุนบุคคลปรับลดลง 3.7% อยู่ที่ระดับ 109.2 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 28.6% อยู่ที่ระดับ 142.86 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลดลง 0.5% อยู่ที่ระดับ 129.41 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่ม 40.0% อยู่ที่ระดับ 140.00
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 SET Index ปรับตัวในกรอบแคบโดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงการประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 4.5% สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ และแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และการที่รัฐบาลประกาศเริ่มเก็บภาษีขายหุ้นในไทยในปี 2566 โดย SET Index ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนปิดที่ 1,635.36 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในเดือนพฤศจิกายน 2565 กว่า 30,129 ล้านบาท โดยตลอดทั้งปี 2565 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นมูลค่า184,060 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ มาตรการการควบคุมสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศจีนหลังเกิดการประท้วงรุนแรงเพื่อต่อต้านนโยบาย Zero Covid ที่เข้มงวด อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาที่แม้จะชะลอตัวแต่ยังคงสูงกว่าเป้าซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของ FED ในการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ แนวโน้มการเกิด Recession ในภาคเศรษฐกิจยุโรปจากวิกฤติพลังงานและเงินเฟ้อและสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศหลังจบการประชุม APEC ซึ่งอาจมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในปี 2566 รวมถึงความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ"
ที่มา: สภาธุรกิจตลาดทุนไทย