นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้ได้มาตรฐาน และมีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบกิจการ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือและได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบ ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาจบใหม่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับทักษะฝีมือ ให้แรงงานได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสม หากมีฝีมือผ่านเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละระดับ จะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 3 ระดับ และมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแล้วทั้งสิ้น 88,675 คน จากการเข้าทดสอบ 272 สาขา ซึ่งได้ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วทั้งสิ้น 112 สาขาอาชีพ โดยในแต่ละสาขาที่ประกาศใช้แล้ว มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือรายวันต่ำสุดอยู่ที่อัตราวันละ 350 บาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ พนักงานเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สูงสุดในสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (โภชนบำบัด)ระดับ 2 ในอัตราวันละไม่ต่ำกว่า 900 บาท
นายประทีป กล่าวต่อว่า สาขาอาชีพที่ประชาชนคุ้นเคย เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างแอร์ ผู้ที่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 จะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไม่ต่ำกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 อัตราวันละ 550 บาท และระดับ 3 อัตราวันละ 660 บาท ส่วนสาขาช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 ถึงระดับ 3 จะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไม่ต่ำกว่า 440 บาท 515 บาท และ 585 บาท นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาขาที่ไม่ได้นำมากล่าวถึง และทุกสาขาที่ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งสิ้น ดังนั้น แรงงานงานที่ต้องการได้รับอัตราค่าจ้างสูงๆ จึงต้องพัฒนาทักษะฝีมือของตนเองให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว จึงจะสามารถนำใบรับรองที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานออกให้ไปแนบยื่นเป็นหลักฐานในการขอรับอัตราค่าจ้างได้ ซึ่งสามารถติดต่อเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ตั้งอยู่แต่ละจังหวัดได้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน