PwC แนะจับตา 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินของไทย

ศุกร์ ๐๙ ธันวาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๔๐
ชี้ธนาคารและประกันต้องให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริการในรูปแบบใหม่ ๆ
PwC แนะจับตา 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินของไทย

PwC ชี้ 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' กำลังเป็นดิสรัปชันใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารทั่วโลก โดยบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนี้ เปิดทางให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นนอนแบงก์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิม รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงจากการสูญเสียลูกค้าและแหล่งรายได้ตลาดลูกค้ารายย่อย แนะธุรกิจธนาคารยกระดับแพลตฟอร์มและสร้างข้อเสนอที่มีการฝังบริการทางการเงิน เพื่อรักษาฐานลูกค้า สร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ตลอดจนปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินทั้งในส่วนของภาคธนาคารและประกันภัยทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดจากบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) ซึ่งถือเป็นรูปแบบบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า โดยผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks และ Non-insurance) ได้เริ่มนำบริการประเภทนี้มาใช้กับการชำระเงิน การให้กู้ยืมเงิน และ การประกันภัย เป็นต้น โดยบริการทางการเงินในรูปแบบดังกล่าว ฝังตัวอยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ไม่ว่าจะเป็นตลาดขายของบนโลกออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับบทความ 2022 Retail Banking Monitor: Repositioning for embedded finance โดย Strategy& ของ PwC ที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนของบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะคิดเป็นมากกว่า 15% ของส่วนแบ่งรายได้ของธนาคารเพื่อรายย่อยในยุโรปในปี 2573

"ตลาดบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน แต่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก โทรคมนาคม ประกันภัย หรืออีคอมเมิร์ซ เข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและทำให้เกิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ เช่น บริการแบงก์กิ้ง บริการประกัน บริการท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ โดยผลบวกที่ตามมา คือ นอกจากจะทำให้ตลาดนี้ใหญ่ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ embedded finance ก็จะยิ่งเติบโตตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ธนาคารเพื่อรายย่อยก็จะมีความเสี่ยงจากการต้องสูญเสียลูกค้าและส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้เล่นที่เข้ามาใหม่" นางสาว วิไลพร กล่าว

ทั้งนี้ บทความดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ตลาดบริการการเงินแบบฝังตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.25 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.88 แสนล้านบาท)[1] และคาดว่า ในปี 2568 มูลค่าดังกล่าว จะเติบโตมากกว่าสิบเท่าเป็น 2.3 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 ล้านล้านบาท) ในเชิงของปริมาณรายได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าตลาดรวมของบริการทางการเงินแบบฝังตัวทั่วโลกนั้นย่อมจะต้องสูงกว่านี้มาก

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มฟินเทค (FinTech) ได้นำบริการทางการเงินแบบฝังตัวมาใช้กับสินค้าและบริการของตนอย่างแพร่หลาย รวมถึงนำเสนอโซลูชันทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี และแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจบริการทางการเงินเพื่อรายย่อย เช่น การให้บริการ 'ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง' (Buy-Now-Pay-Later) ของธุรกิจสายการบิน การจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาล และการจัดตั้งรูปแบบการชำระเงินของตนเองของธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น

ดึง embedded finance มาใช้สร้างความแตกต่าง

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า การฝังบริการทางการเงินในระบบนิเวศจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม เพราะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม หรืออินเทอร์เฟซดิจิทัล (Digital interfaces) ที่ผู้บริโภคทำการโต้ตอบด้วยทุกวัน และนำเสนอออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว จึงช่วยส่งมอบประสบการณ์ที่ดี และส่งผลให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินที่ต้องการก้าวสู่บริการทางการเงินแบบฝังตัวควรกำหนดบทบาทและวางตำแหน่งทางการตลาดให้ชัดเจน ซึ่งบทบาทสำคัญที่ธนาคารและสถาบันการเงินควรพิจารณา มีดังต่อไปนี้

  1. สถาบันการเงินเข้าร่วมในระบบนิเวศ (Participant) โดยนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินฝังเข้าไปในแพลตฟอร์มของธุรกิจอื่น ๆ เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มหรือ ecosystem ของผู้อื่น ซึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาจไม่สามารถกำหนดทิศทางของระบบนิเวศโดยรวมได้ 
  2. สถาบันการเงินร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ (Orchestrator) โดยร่วมกันกำหนดทิศทางของระบบนิเวศ เช่น กลยุทธ์ การปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ประเภทของผลิตภัณฑ์ หรือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบนี้ จะใช้การลงทุนด้านเวลาและเงินทุนสูงกว่าข้อแรก
  3. สถาบันการเงินเป็นผู้สร้างระบบนิเวศ (Creator) ของตนเองขึ้นมา โดยมีอำนาจในการควบคุมอย่างเต็มที่ (full control) และเป็นผู้ลงทุนด้านเม็ดเงิน เวลา บุคลากร และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถกำหนดทิศทางทั้งหมด เช่น การเลือกคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ประเภทของผลิตภัณฑ์ การกำหนดประสบการณ์ของลูกค้า การทดลองนวัตกรรมใหม่ และอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจนี้ เหมาะสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อทดลองและขยายขนาด (scale up) 

"ในส่วนของประเทศไทย เราจะยิ่งเห็นการจับมือทางธุรกิจระหว่างฟินเทคกับบริษัทลูกของธนาคารที่แยกออกมาสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อรุกธุรกิจด้านการเงินสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้หรือรีเซ็ตโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ แต่สิ่งที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญอย่างที่กล่าวไป คือ ต้องกำหนดบทบาทของตนในระบบนิเวศที่จะยิ่งทวีความซับซ้อน พร้อมปรับปรุงคุณค่าที่นำเสนอเพื่อรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องสร้างความแตกต่างเพื่อแข่งขันในตลาด โดยยึดการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหนือกว่าคู่แข่งให้ได้" เธอกล่าว

[1] อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.92 บาท ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2565

ที่มา: PwC Thailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ