รองศาสตราจารย์ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) เปิดเผยว่า iNT ได้ร่วมกับ EDDU Group International (www.eddu.org) จัดหลักสูตร "Data for Entrepreneur" ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความสนใจทางด้านธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์นพ พงศธร ธนบดีภัทร CEO&CO-Founder บริษัท FINNX (www.refinn.com) ซึ่งเป็นธุรกิจ Startup ที่มีการนำ Data มาใช้ในการทำงานจนทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามากกว่า500 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีและยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
โดยหัวใจสำคัญของการใช้ Data มาพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันประกอบด้วย การทำ Data Analytics และการทำ Data Visualization ไปสร้างให้เกิด Data Driven Marketing ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจ นอกจากนี้ผู้บริหารรุ่นใหม่มักให้ความสำคัญกับ Data Analytics เพราะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นโอกาสใหม่ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ในหลายองค์กรยังนำ Data มาช่วยคิดกลยุทธ์ต่างๆ ที่สามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่าปกติจนทำให้ธุรกิจโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทางการตลาดนั้น Data ก็มีบทบาทช่วยสร้างแคมเปญการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ Data ช่วยให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับทำให้รู้แนวโน้มพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างแคมเปญมารองรับพฤติกรรมเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
สำหรับขั้นตอนการทำ Data Analytics สามารถเริ่มด้วย 6 ขั้นตอนเบื้องต้นดังนี้ 1.รู้จักและเข้าใจปัญหาของธุรกิจ 2.มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา 3.จัดข้อมูลอย่างเป็นระบบ พร้อมกับตรวจเช็กข้อมูลให้ถูกต้อง 4.ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบต่างๆ 5. นำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้และทดลองใช้ และ6.ติดตามผลลัพธ์และนำมาปรับปรุง ทั้งนี้หากสามารถเริ่มต้นและทำตามขั้นตอนนี้ได้ก็จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นเพียงแค่รู้จักการใช้ Data ซึ่งถือเป็นสิ่งที่นักธุรกิจรุ่นใหม่หรือคนที่สนใจด้านนี้ควรให้ความสำคัญ
"อีกหนึ่งตัวอย่างให้เห็นภาพของการนำ Data มาใช้หากวันนี้คุณเป็นผู้บริหารขององค์กรและได้รับโจทย์มาจากนักลงทุนว่าต้องเพิ่มยอดขายให้ได้มากขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า หากลองคิดแบบเร็วๆ ก็อาจจะใช้วิธีเน้นเพิ่มลูกค้า สมมติปกติธุรกิจสามารถสร้างยอดขาย 1 ล้านบาท จากลูกค้า 1,000 คน และโจทย์ก็คือต้องได้ยอดขายมากขึ้น 2 เท่า นั่นก็คือต้องทำให้ได้ยอดขายอย่างน้อย 2 ล้านบาท หากเลือกใช้วิธีเน้นเพิ่มลูกค้า ก็ต้องหาลูกค้าเพิ่มอีก 1,000 คน และทีมที่จะมารับผิดชอบงานส่วนนี้ ก็คือทีมการตลาด พร้อมกับต้องเพิ่มงบให้ทีมการตลาดในการหาลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่ในความจริงแล้วการทำธุรกิจนั้นมีหลายตัวแปรไม่ใช่แค่การเพิ่มงบการตลาดแล้วจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ในไทยที่ทุกคนรู้จักดี ก็มีการจัดแคมเปญในเรื่องของการสะสมแสตมป์ในช่วงปลายปีซึ่งตรงนี้เป็นการทำให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้ามากขึ้นแถมยังช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาถี่มากขึ้นด้วย เช่น ถ้าลูกค้าต้องการที่จะซื้อแชมพู แต่อยู่ในช่วงสะสมแสตมป์และทุกครั้งที่ซื้อครบอย่างน้อย 40 บาทก็จะได้แสตมป์1 ดวง ร้านสะดวกนี้ก็อาจจะเป็นตัวเลือกหลักที่ลูกค้ากลับมาซื้อ แคมเปญนี้ทำให้ร้านสะดวกซื้อประสบความสำเร็จในการดึงดูดลูกค้าและการเพิ่มยอดซื้อสินค้าต่อบิล" รองศาสตราจารย์ดร.ยศชนัน กล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จได้นั่นก็คือการวิเคราะห์จากข้อมูลและพิจารณาว่าตัวแปรใดที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ซึ่งนี่ก็คือตัวอย่างของการใช้ Data มาวิเคราะห์แล้วนำมาวางแผนกลยุทธ์ในการทำการตลาดที่เรียกว่า Data Driven Marketing การใช้ประโยชน์จาก Data นั้นสามารถทำได้หลายมิติไม่ว่าจะเป็นการทำ Data Analytics หรือ Data Visualization ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ดีในการนำมาเสริมสร้างธุรกิจให้แข็งแรงขึ้น ใน Workshop ครั้งนี้จะพูดถึงประเด็นสำคัญของการนำ Data มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้น
นอกจากนี้ภายในงานยังมี Highlight สำคัญที่อาจารย์นพ พงศธร ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาได้ฝึกการนำเสนอข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นไปตามแผนพัฒนาธุรกิจ Startup ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งเน้นในการสนับสนุนนักศึกษาให้มี Entrepreneurship และสร้าง Ecosystem ธุรกิจขึ้นมาและอีกหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้นักศึกษามี Entrepreneurship ที่ดีคือการรู้จักสร้างโอกาสให้ธุรกิจจาก Data เพราะการทำการตลาดแบบเดิมๆ แล้วคาดหวังให้ธุรกิจยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ยาก Data จึงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ การตลาด และการบริหาร ซึ่งไม่ใช่แต่องค์กรขนาดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์จาก Data แต่ธุรกิจ Startupและ SME ธุรกิจออนไลน์ก็หันมาใช้Data ในการพัฒนาธุรกิจเช่นกัน
ที่มา: สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล