สนช. หนุน 2 โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวไทย นำร่อง ๑ จังหวัด ๑ อุตสาหกรรมเกษตร

อังคาร ๑๗ มกราคม ๒๐๐๖ ๑๕:๒๔
กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สนช.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานแถลงข่าวโครงการ "นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวไทย" เพื่อเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในภาคเอกชนที่ใช้องค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวไทย และยังเป็นการสร้างแรงกระตุ้นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร. ประวิช รัตนเพียร ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานดังกล่าว
ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยในปี 2547 ไทยส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 108,393.3 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวสารร้อยละ 93 และผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ แป้งข้าวเจ้า ผลิตภัณฑ์ข้าวสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 7 แม้ว่าประเทศไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก และในปัจจุบันยังมีคู่แข่งขันในตลาดโลกที่สำคัญคือ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ปากีสถาน และจีน เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาพันธุ์ และการเพาะปลูกทำให้มีผลผลิตต่อไร่สูง และยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น การสร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ตั้งแต่การพัฒนาระบบการเพาะปลูก เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ การเพิ่มผลผลิต และการแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า "จากความสำคัญของการสร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทย จึงจำเป็นต้องนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างความแตกต่างในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ดังนั้น สนช. จึงได้ริเริ่มนำร่อง 2 โครงการนวัตกรรมด้านข้าวเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ ได้แก่ "โครงการนวัตกรรมการผลิตข้าวกล้องเพื่อสุขภาพโอไรซ์ (O-Rice)" และ "โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวหุงสุกเร็ว ใบเมี่ยง และเส้นอูด้ง" โดย สนช. ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ และด้านการเงินผ่านโครงการนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย ตามลำดับ"
"โครงการนวัตกรรมการผลิตข้าวกล้องเพื่อสุขภาพโอไรซ์ (O-Rice)" ของบริษัท เพชรบูรณ์ อินโนเวชั่น จำกัด โดยการบูรณาการความร่วมมือของหลายหน่วยงานได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ข้าวกล้องโอไรซ์ เป็นข้าวกล้องที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยด้วยกระบวนการ "โอไรซิเนชัน" (orizination) ซึ่งเป็นกระบวนการนวัตกรรม โดยการนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำแล้วผ่านความร้อน เพื่อพาสารอาหารที่อยู่ในชั้นของรำเข้าไปข้างในเมล็ดปะปนอยู่ในชั้นแป้ง แล้วอบหรือเป่าด้วยลมร้อนเพื่อให้น้ำระเหยออกไป ทำให้โมเลกุลของแป้งคืนรูปและกักสารอาหารให้ค้างอยู่ในเม็ดแป้ง ฉะนั้นข้าวเปลือกที่ผ่านกระบวนการผลิตโอไรซิเนชัน จะกักเก็บสารอาหารต่างๆ ไว้ในเมล็ด ทำให้คุณค่าทางอาหารยังอยู่ครบถ้วนทั้งวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินที่พบในส่วนของรำข้าวและจมูกข้าวอาทิ วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินบีสาม วิตามินบีห้า วิตามินบีหก วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินอี และอุดมด้วยเส้นใยอาหารซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย การควบคุมน้ำหนักและมีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
อีกโครงการคือ "โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวหุงสุกเร็ว ใบเมี่ยง และเส้นอูด้ง" ของบริษัท เอเชี่ยนสุพีเรียฟู้ดส์ จำกัด บริษัทใหญ่ในจังหวัดราชบุรี และเป็นที่รู้จักกันดีแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำนวัตกรรม เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทย หลายโครงการเป็นโครงการที่น่าสนใจในแง่แนวคิด จึงเกิดการพัฒนาจนได้มาซึ่งโครงการนวัตกรรมทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
"ข้าวหุงสุกเร็ว" เป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวสวยและข้าวปรุงรสกึ่งสำเร็จรูป ที่สามารถคืนรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานได้ภายในเวลา 3-5 นาที โดยมีสูตรเฉพาะตั้งแต่ตอนการแช่ข้าว การหุงข้าว และการอบแห้ง ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และความดัน เพื่อให้ข้าวยังคงรูปเป็นเมล็ดข้าวและสามารถดูดซึมน้ำได้ดีในการคืนรูป ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
"ใบเมี่ยง" ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรในการทำแผ่นแป้ง ที่มีการพัฒนามาแล้วหลายแบบจนได้แบบที่สามารถควบคุมความหนาของแผ่นแป้ง ซึ่งต้องสัมพันธ์กับกระบวนการนึ่งเพื่อให้แผ่นแป้งสุกอย่างสม่ำเสมอ มีลักษณะเหนียวนุ่ม และไม่ขาดง่าย รวมทั้งการออกแบบอุปกรณ์ในการอบแห้งให้มีการกระจายความร้อนได้สม่ำเสมอและสามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ได้ ทำให้แผ่นแป้งเรียบไม่บิดงอ และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
"เส้นอูด้งสด" เป็นการผลิตเส้นอูด้งสดและหมี่ฮ่องกง โดยใช้แป้งข้าวเจ้าทดแทนแป้งสาลีบางส่วน และใช้กัม (gum) เป็นตัวประสานในการนวดแป้งข้าวเจ้าและแป้งสาลีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งยังคงคุณภาพเหมือนกับการใช้แป้งสาลี 100% ได้เป็นผลิตภัณฑ์เส้นอูด้งและหมี่ฮ่องกงที่โปรตีนกูลเตนต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่แพ้โปรตีนกลูเตน
โดยทั้ง 2 โครงการ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำนวัตกรรม เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการนำร่อง "๑ จังหวัด ๑ อุตสาหกรรมเกษตร" เพื่อที่จะขยายผลให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
โทรศัพท์ 02-644-6000 ต่อ123, 124 (อาศยา/สิทธิชัย)
โทรสาร 02-644-8443--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ