ผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้"มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่

จันทร์ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๕๘
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการอย่างหนาแน่นเช่นเดียวกับการจัดงานทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานมากกว่า 4,500 รายการ"

การจัด "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวปาฐกถาถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคงต่อการดำรงชีพ โดยงานมหกรรมครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินได้อย่างครอบคลุมและตรงจุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวต่อไป

ผลของการจัดงานมหกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานมากกว่า 4,500 รายการ ประกอบด้วยการขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม จำนวนมากที่สุดกว่า 1,600 รายการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากงานมหกรรมครั้งที่ 3 ได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์มาร่วมออกบูธเพิ่มเติมด้วย ดังนั้น ในครั้งต่อ ๆ ไปจะมีธนาคารพาณิชย์มาร่วมออกบูธภายในงานด้วยเช่นกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภายในงานครอบคลุมความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น รองลงมา คือ การขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพกว่า 1,200 รายการ การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 600 รายการ และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การจำหน่ายทรัพย์ NPA จากทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น ประมาณ 1,100 รายการ

ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนทำได้ต่อเนื่องและครอบคลุมประชาชนในทุกพื้นที่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจึงมีแผนที่จะจัดงานครั้งต่อ ๆ ไป อีก 2 ครั้ง ในภาคตะวันออก และภาคใต้ ดังนี้

ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 - 22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน
ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27 - 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นอกเหนือจากการจัดงานมหกรรมรูปแบบสัญจรแล้ว กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้จัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออนไลน์นี้ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น และเป็นการรวบรวมเจ้าหนี้ไว้มากที่สุด รวมทั้งครอบคลุมประเภทสินเชื่อมากที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 170,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 380,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลร้อยละ 35 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 19 ภาคกลางร้อยละ 12 และภาคอื่น ๆ ร้อยละ 34 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครติดและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 และจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4

ดังนั้น ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม และสามารถลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/DebtFair หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ขอเชิญชวนประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ได้ทั้งระบบออนไลน์ หรือเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม 2566 โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 - 22 มกราคม 2565 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน หรือสามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสาขาของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศได้เช่นกัน"

QR Code สำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมงาน
"มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 4 - 5
https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT

QR Code สำหรับลงทะเบียนแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออนไลน์
https://www.bot.or.th/DebtFair

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  1. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร. 02 202 1868 หรือ 02 202 1961
  2. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือสายด่วน 1115
  3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02 111 1111
  4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
  5. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
  6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357
  7. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999
  8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302
  9. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999

ที่มา: กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม