นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนในการบริหารจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน ดังนั้น การได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนการนำขยะอินทรีย์ภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์ นำมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง เพื่อสร้างมูลค่าและเป็นประโยชน์ในงานวิจัยของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ นับเป็นความภูมิใจที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "สำหรับสถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทย ปี 2564 ที่มีการผลิตขยะออกมา 24.98 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 68,000 ตันต่อวัน โดยทั้งหมดเป็นขยะอินทรีย์ร้อยละ 50 และอัตราการผลิตขยะต่อคน 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 32 ถูกส่งกำจัดอย่างถูกต้องร้อยละ 37 ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้องกว่าร้อยละ 31 จึงทำให้เกิด "ขยะสะสม" กลายเป็นปัญหามลภาวะ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน ตลอดจนเป็นการทิ้งทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นในการทำให้ขยะไม่ใช่ขยะ แต่ขยะคือทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการกำจัดขยะต้องไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม"
ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการนำขยะอินทรีย์อบแห้งภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยและบริการด้านวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ และถ่ายทอดให้กับชุมชน เครือข่าย และประชาชนต่อไป
เอ็นซีซี ได้มีการติดตั้งเครื่องกำจัดขยะด้วยระบบอบแห้ง ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นการจัดการเศษอาหารที่เหลือใช้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณเศษอาหารที่ไปสู่บ่อฝังกลบ และลดสาเหตุของสภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนี้ยังสามารถกำจัดเศษอาหารได้ถึง 146,000 กิโลกรัมต่อปี หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 369,000 KgCO2e ต่อปี และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้มากกว่า 40,000 ต้นต่อปี
ที่มา: โอกิลวี่ ประเทศไทย