ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า การส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่มีศักยภาพให้สามารถยกระดับประสิทธิภาพของตนเอง ต่อยอดธุรกิจ และเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ดีป้า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมดิจิทัลสตาร์ทอัพในทุกระยะการเติบโต ก่อนมุ่งสู่ระดับสากล พร้อมให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจและสังคม รวมถึงพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้มาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ของ ดีป้า เพื่อเร่งขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพกลุ่มนี้อย่างตรงจุด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดีป้า พร้อมด้วย กลุ่มบริษัท วินเซิร์ฟ คอร์ปอเรชั่น ผู้นำด้านเทคโนโลยีแบบครบวงจรของประเทศไทย ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด (InnoSpace Thailand) บริษัทเงินร่วมลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนจึงได้เข้าลงทุนใน บริษัท แอ็คโคแมท จำกัด (ZTRUS) ดิจิทัลสตาร์ทอัพที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงมาให้บริการแปลงข้อมูลสู่ดิจิทัล เพื่อผลักดันสู่ระดับ Pre-Serie A ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund)
"ZTRUS คือหนึ่งในดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ ดีป้า ให้การส่งเสริม โดยเราเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง ZTRUS นับเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานและงานเอกสารของผู้ประกอบการไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กลุ่มบริษัท วินเซิร์ฟ คอร์ปอเรชั่น และ อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้ ZTRUS สามารถยกระดับเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อพัฒนาโซลูชันในการให้บริการ ควบคู่ไปกับการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นในระยะถัดไป" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ขณะที่ นายพณชิต กิตติปัญญางาม CEO/Co-founder ZTRUS กล่าวว่า เทคโนโลยีของ ZTRUS ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการตรวจสอบและนำเข้าเอกสาร โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการอ่านตรวจสอบ และการพึ่งพาทรัพยากรบุคคลในกระบวนงานบางส่วน ส่งผลให้เทคโนโลยีของของ ZTRUS มีความโดดเด่นและแตกต่างจากเทคโนโลยีอื่น อีกทั้งสามารถนำไปใช้ในกระบวนงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะงานบัญชี อาทิ การอ่านเอกสารใบสั่งซื้อ (Purchase Order) จากอีเมลก่อนแปลงรายการสินค้าเพื่อนำไปเปิดใบสั่งขาย (Sale Order) ในระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) กระบวนการตรวจเอกสารเบิกจ่ายพนักงาน กระบวนจัดกลุ่มเอกสารใบส่งของตามรายชื่อลูกค้าและวันวางบิล รวมถึงกระทบยอดภาษีในเอกสารกระดาษกับข้อมูลในระบบ ERP เป็นต้น
ในส่วนของเทคโนโลยีขั้นสูงที่ ZTRUS นำมาใช้บริการแปลงข้อมูลสู่ดิจิทัลไม่ใช่เพียงแค่ OCR (Optical Character Recognition) ทั่วไปเท่านั้น แต่รวมไปถึงเทคโนโลยีกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล (Information Extraction) โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ช่วยแปลงและถอดข้อมูลผ่านการเรียนรู้ เลียนแบบความคิดมนุษย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ AI-OCR
"สำหรับเงินทุนที่ได้รับจากการระดมทุนจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พันธมิตรของบริษัทให้สามารถนำเทคโนโลยีของ ZTRUS ไปปรับแต่งและให้บริการในกระบวนการทำงานและงานเอกสารต่าง ๆ ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ERP, DMS (Document Management System) และ ECMS (Electronic Management System) อีกทั้งสามารถขยายฐานลูกค้าสำนักงานบัญชี และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ใช้ระบบบัญชีทั่วไป (Accounting Software) ได้อีกด้วย" CEO/Co-founder ZTRUS กล่าว
ที่มา: แบรนด์ คอมมิวนิเคชัน