โครงการโรงเรียนรักษ์อาหาร เป็นโครงการที่ให้ความรู้แก่นักเรียนและคุณครูเกี่ยวกับวิธีการจัดการปัญหาเรื่องขยะอาหาร เช่น การนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก การสร้างความเข้าใจเรื่องอาหารส่วนเกินคืออะไร และมีวิธีการลดอย่างไรที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ รวมถึงผลกระทบของขยะอาหารที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารและการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อการมีสุขภาพที่ดี
นอกจากนี้ ยังมีการสอนอ่านฉลากโภชนาการที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารเช่น ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่ได้จากการรับประทาน เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างชาญฉลาดเมื่อต้องซื้ออาหารด้วยตนเอง
ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 180 คนจากโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม โรงเรียนวัดอ่างทอง โรงเรียนกุศลวิทยา โรงเรียนวัดใหญ่จอมปราสาท โรงเรียนบ้านโรงเข้ และโรงเรียนวัดเขายี่สาร เข้าร่วมในเวิร์กชอปภายใต้โครงการโรงเรียนรักษ์อาหาร ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามดำเนินงานของไทยยูเนี่ยนเพื่อส่งเสริม "การมีสุขภาพที่ดี ควบคู่กับการดูแลท้องทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์"
"โครงการนี้ เป็นโครงการที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องอาหารอย่างยั่งยืน สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้พวกเขาได้มีทักษะการบริโภคอาหารที่ดีต่อร่างกาย ถูกหลักโภชนาการ มองเห็นคุณค่าของอาหารใกล้ตัว และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากทิ้งอาหารส่วนเกินและเศษอาหารไปในสิ่งแวดล้อม และต้องการสร้างความตระหนักว่า ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยอาจไม่รู้ตัว โครงการนี้เป็นต้นแบบที่ดีที่เราต้องการขยายแนวคิดเรื่องการจัดการอาหารเป็นบทเรียนที่ถูกบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาในยุคใหม่นอกจากนี้เราต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่สังคมไร้ขยะอาหาร และไร้ผู้หิวโหยไปด้วยกัน" นางสาวศศิวรรณ ใจอาสา เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนอาวุโส มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ กล่าว
นายอดัม เบรนแนน ผู้อำนวยการกลุ่มความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า "ขยะอาหารเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลก และขยะอาหารนี้ยังเป็นตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ทุกคนสามารถมีส่วนในการแก้ปัญหาเพื่อลดและหยุดสร้างขยะอาหารโดยการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ทำอาหารในปริมาณที่เราสามารถรับประทานได้ และซื้ออาหารเฉพาะที่เราต้องการเท่านั้น ภายใต้โครงการโรงเรียนรักษ์อาหาร เรากำลังให้ความรู้นักเรียนด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะอาหาร เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ตระหนักมากขึ้นว่า การกระทำของพวกเขาสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมได้มากเพียงใด"
ไทยยูเนี่ยน มีการตั้งเป้าหมายในเรื่องของขยะอาหาร โดยในปี 2564 บริษัทได้ออกพันธกิจเรื่องการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โดยมีเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียอาหารในการผลิตอาหารประเภทบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็งให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 เปรียบเทียบกับตัวเลขฐานปี 2564 นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมุ่งมั่นทำงานร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตรของบริษัท เพื่อลดขยะอาหารที่ระดับค้าปลีกและผู้บริโภคอีกด้วย
ประเทศไทยมีขยะอาหารสูงถึง 9.68 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมด ในจำนวนนี้มีอาหารส่วนเกินที่ยังทานได้ปะปนอยู่ถึง 39 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด จากการศึกษาของมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ โดยทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการ 3 ขั้นตอนง่ายๆ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้เพื่อลดขยะอาหารในครัวและยังได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ดังนี้
- ตรวจสอบอาหารในตู้เย็นว่า มีอาหารอะไรที่ใกล้หมดอายุหรือไม่
- หากพบอาหารใกล้หมดอายุ ควรรีบบริโภคก่อนอาหารประเภทอื่น
- หากบริโภคไม่ทัน สามารถนำมาบริจาคให้ทางมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ได้ ตามกูเกิล
แมพด้านล่างนี้
สถานที่บริจาค: https://goo.gl/maps/YNPiXBXMrFZaUzwRA
ที่มา: ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป