การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมครั้งนี้ จะดำเนินการกับหน่วยผลิตทั้ง 2 หน่วยของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โดยครอบคลุมระบบการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของแอมโมเนีย ทั้งในด้านการผลิตและการขนส่ง การใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงผสมในสัดส่วนร้อยละ 20 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และการประเมินผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Mitsubishi Corporation และ Chiyoda Corporation เพื่อศึกษาเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) สำหรับหน่วยผลิตทั้ง 2 หน่วยอีกด้วย
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BPP กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่ BPP ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50 เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดำเนินการผลิตสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และรักษาสมดุลของปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงร่วมและการนำเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีนั้น นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ BPP ในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อ 9 ในส่วนของการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาด"
การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมดังกล่าวมีความมุ่งหวังว่าจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ได้แก่ JERA Co., Inc. ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาห่วงโซ่อุปทานของแอมโมเนีย รวมถึง Mitsubishi Corporation และ Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. ที่ดำเนินการศึกษาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการประเมินต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเบื้องต้น เพื่อสร้างความพร้อมให้กับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี
การมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐและการผนึกกำลังกับภาคเอกชนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า BPP เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลิตและจำหน่ายส่งมอบพลังงานไฟฟ้าตามหลักสามเหลี่ยมแห่งความสมดุล (Economic - Environment - Security of Supply) นั่นคือ สามารถตอบโจทย์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเสถียรภาพ เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatts) อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลประโยชน์ให้กับสังคมในภาพรวม
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com
หมายเหตุ:
โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาด 1,434 เมกะวัตต์ ที่ใช้ถ่านหินคุณภาพดีชนิดบิทูมินัส (Bituminous) เป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นบริษัทร่วมทุนของ BPP และเอ็กโก กรุ๊ป ในสัดส่วน 50:50
ที่มา: เอบีเอ็ม คอนเนค