สำหรับปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15% อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 13,608 ล้านบาท หรือ 11.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22 % หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2565 มีจำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพ ตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,246,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 142,970 ล้านบาท หรือ 3.48% หลัก ๆ เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ นอกจากนี้ ธนาคารเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.81% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.84% ทั้งนี้ งบการเงินรวมของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้รวมฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารแมสเปี้ยน จากการเข้าไปลงทุนเพิ่มในช่วงปลายปีทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมร้อยละ 67.50 ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่องบการเงินรวมอย่างมีสาระสำคัญ
ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย