อันดับเครดิตของ กฟผ. สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของกฟผ. ที่ระดับ 'bbb+' ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ('BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์จะคงอันดับเครดิตของกฟผ. เท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย ในกรณีที่สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. ถูกปรับลดลง โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์
สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและสนับสนุนการดำเนินงานของกฟผ. ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกฟผ. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลค่าไฟฟ้าจะทำการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ กกพ. ได้มีการส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวไฟยังค่าไฟฟ้าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีความล่าช้าบ้างในบางช่วงเวลา ฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ กฟผ. สามารถรองรับการปรับค่าไฟฟ้าที่อาจล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อกฟผ. อยู่ในระดับสูงมาก โดยรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมดในกฟผ. เป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง และอนุมัติการลงทุนของกฟผ. ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อกฟผ. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงิน เนื่องจากกฟผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กฟผ. ในกรณีที่กฟผ. มีความต้องการ เนื่องจากกฟผ. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย
ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงมาก: ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่กฟผ. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจาก กฟผ. ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ แต่ยังเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายอื่น ซึ่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นของประเทศ
กฟน. และ กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทย โดย กฟน. จำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ในส่วนพื้นที่เหลืออยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟภ. ฟิทช์มองว่า รัฐวิสาหกิจทั้งสามมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก โดยตามระเบียบข้อบังคับจะแบ่งผลตอบแทนที่เหมาะสมให้แต่ละรัฐวิสาหกิจ และมีกลไกให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอได้รับการชดเชยจากรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบทางการเงินต่อภาครัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากฟิทช์มองว่า กฟผ. เป็นหนึ่งในตัวแทนภาครัฐฯ ในการกู้ยืมเงิน
ฐานะทางธุรกิจที่มั่นคง คู่ค้าที่แข็งแกร่ง: กฟผ. เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศโดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและผลิตเองให้กับ กฟน. กฟภ. และลูกค้าโดยตรงบ้างเล็กน้อย
การฟื้นตัวของการใช้ไฟฟ้า: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการขายไฟฟ้าในประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในปี 2565 (ปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8) เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากมีการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ฟิทช์คาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี 2565 จะอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ตามฟิทช์คาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตร้อยละ 2.5 ต่อปี ในปี 2566 และ 2567
แรงกดดันต่อกระแสเงินสดจากราคาเชื้อเพลิง: ฟิทช์คาดว่าราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 จะกดดันกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะจะติดลบเนื่องจากการปรับค่าไฟฟ้าที่ล่าช้า กฟผ. ได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 เนื่องจากราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตภายในประเทศ และจากการนำเข้า อ้างอิงจากราคาน้ำมัน โดยราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 251 บาท ต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 จากปี 2564
การปรับค่าไฟฟ้าที่ล่าช้า: ฟิทช์คาดว่ารายได้ค้างรับของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 (สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากการปรับค่าไฟฟ้ายังไม่สะท้อนต้นทุนเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นทั้งหมด ได้มีการปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.09 บาทต่อหน่วย ในปี 2565 แต่การปรับดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงสี่เดือนสุดท้ายของปี โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปี 2565 สูงกว่าปี 2564 เพียงร้อยละ 21 อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้ประกาศปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 0.61 บาท ต่อหน่วย ในปี 2566 ฟิทช์คาดว่า กฟผ. จะได้รับการชดเชย รายได้ค้างรับที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งหมด ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก กกพ. น่าจะรักษาระดับค่าไฟฟ้า เพื่อชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าราคาเชื้อเพลิงตามประมาณการของฟิทช์จะปรับตัวลดลง
ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ กฟผ. จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า (ปี 2564 อยู่ที่ 1.1 เท่า) จากหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ค้างรับ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินน่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า ในช่วงปี 2566 - 2567 จากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่า กฟผ. จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2565, 4.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 และเพิ่มขึ้นป็นประมาณปีละ 9-12 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและเครือข่ายสายส่ง
โครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ: กกพ. จะมีการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าทุกๆ 4 เดือน จากต้นทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นราคาเชื้อเพลิง และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าไฟฟ้าฐานจะมีการปรับทุก 3-5 ปี เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และรักษาสถานะทางการเงินและผลตอบแทนของการไฟฟ้าทั้งสาม และลดการชดเชยระหว่างกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า โดยมีการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรที่อัตโนมัติและคล่องตัว
ฟิทช์คาดว่า กกพ. จะพยายามรักษาเสถียรภาพของค่าไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้รับการส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าเต็มที่ ซึ่งเห็นได้จากปี 2565 อย่างไรก็ตามการไฟฟ้าจะได้รับการชดเชยในเวลาต่อมาเมื่อราคาเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวลดลง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
PT Perusahaan Listrik Negara (Persero) (PLN, อันดับเครดิต 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Korea Electric Power Corporation (KEPCO, อันดับเครดิต 'AA-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกฟผ. เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศของตัวเอง อันดับเครดิตของ PLN และ KEPCO อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของประเทศตัวเอง - ประเทศอินโดนีเซีย (อันดับเครดิต 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และประเทศเกาหลี (อันดับเครดิต 'AA-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ของฟิทช์
ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ และผลกระทบทางการเงินและผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยในการสนับสนุนแรงจูงใจในการสนันสนุนของ PLN อยู่ในระดับสูงมาก ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจในการสนันสนุน ของ KEPCO อยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน แต่สถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ และการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อ KEPCO อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ และผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของกฟผ. อยู่ในระดับสูงมาก และการสนับสนุนจากภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง
ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ของ PLN อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัทดำเนินการภายใต้โครงสร้างอุตสาหรรมที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปยังค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยหากมีภาระค่าไฟที่ PLN ต้องแบกรับจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านค่าไฟฟ้าได้ บริษัทจะได้รับการชดเชยจากภาครัฐฯ โดยหาก PLN ไม่ได้รับการชดเชยดังกล่าว บริษัทจะมีผลการดำเนินงานขาดทุน
ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ ของ KEPCO อยู่ในระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพียงร้อยละ 51 รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ แต่การกำกับดูแลการดำเนินงานค่อนข้างอยู่ในระดับปกติทั่วไป ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ของ KEPCO อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกันกับของกฟผ. โดยที่ผ่านมา มี KEPCO ได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่จำกัด เนื่องจาก KEPCO มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่ KEPCO มีความต้องการ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในปี 2565, ร้อยละ 2.5 ในปีถัดไป
- ราคาเชื้อเพลิงตามประมาณการของฟิทช์
- ค่าไฟ มีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 และ 2567 เพื่อให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยรายได้ค้างรับ
- อัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมอยู่ที่ร้อยละ 3.6
- ระยะเวลาลูกหนี้การค้า (รวมรายได้ค้างรับจากการขายไฟฟ้า)เพิ่มเป็นประมาณ 110 วันในปี 2566 ก่อนจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 35 วันในปี 2568
- เงินปันผลรับสุทธิปีละ 4 พันล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 5.4 หมื่นล้านบาทในปี 2565, 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 9-12 หมื่นล้านบาทหลังจากปี 2566
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50-70 ของกำไรสุทธิของปีก่อนหน้า
ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ
- การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ตามรายงานลงวันที่ 18 มิถุนายน 2564
ปัจจัยบวก:
- ด้านเศรษฐกิจมหภาค: การฟื้นตัวและความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยไม่ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ด้านหนี้สาธารณะ: แนวโน้มอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาล (General government debt to GDP) ที่ปรับลดลง จากการขาดดุลงบประมาณที่ลดลง และหรือ แนวโน้มเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในระยะปานกลาง
ปัจจัยลบ:
- ด้านหนี้สาธารณะ: ไม่สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
- ด้านโครงสร้าง: ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในทางลบ
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: กฟผ. มีเงินสดอยู่ประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2565 ซึ่งมากกว่าหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า จำนวนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระที่กระจายตัวดี โดยมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระปีละน้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท กฟผ. มีการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจำนวน 1.1 แสนล้านบาทเพื่อรองรับรายได้ค้างรับจากการขายไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้มีการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว
ฟิทช์คาดว่า กฟผ.จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปีละ 1.3-2 แสนล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากคาดว่า กฟผ. จะได้รับเงินชดเชยรายได้ค้างรับ ฟิทช์มองว่า กฟผ. มีความสามารถในการกู้ยืมในระดับสูงเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ
ข้อมูลบริษัทโดยย่อ
กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด กฟผ. ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าครบวงจรในประเทศไทย โดยเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงรายเดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศโดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 34.5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ที่มีกำลังการผลิตทั้งหมดที่ 47 กิกะวัตต์ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)