ส่วนสถานที่ผลิตเพื่อจำหน่ายของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งในเขตประเวศ สนอ.ได้ประสานสำนักงานเขตประเวศตรวจสอบและให้คำแนะนำสถานประกอบการปฏิบัติและจัดสถานที่ให้ถูกสุขลักษณะตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 พร้อมให้คำแนะนำการใช้สารปรุงแต่งอาหารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสถานประกอบกิจการอาหาร จำนวน 1,718 ราย โดย สนอ.ได้แจ้งทุกสำนักงานเขตกำชับสถานประกอบการใช้สารปรุงแต่งอาหารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหารอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแนวทางการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.ในสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจะตรวจประเมินสถานศึกษา ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง มีรายละเอียดการตรวจประเมิน ดังนี้ (1) ตรวจความสะอาดของโรงอาหาร ห้องครัว ห้องสุขา ระบบบำบัดน้ำเสียและที่พักขยะ (2) ตรวจระบบกักเก็บน้ำ (3) ตรวจความสะอาดตู้กดน้ำดื่มและบริเวณโดยรอบ (4) ตรวจการจัดเก็บนมโรงเรียน (5) สุ่มตรวจวัตถุดิบอาหารด้านเคมี (6) สุ่มตรวจมือผู้สัมผัสอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และอาหารปรุงสำเร็จ ด้านจุลชีววิทยา (7) สุ่มตรวจคุณภาพน้ำบริโภคในครัว น้ำในบ่อพักน้ำ และน้ำตู้กดน้ำดื่ม ชุดทดสอบหาเชื้อแบคทีเรียในการตรวจคุณภาพน้ำบริโภค และ (8) ส่งเสริมให้ผู้สัมผัสอาหารเข้ารับอบรมสุขาภิบาลอาหารและตรวจสุขภาพ ทั้งนี้ หากพบข้อบกพร่อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจะแจ้งผลการตรวจประเมินให้สถานศึกษาทราบในวันตรวจประเมิน และจัดทำหนังสือแจ้งผลให้ผู้บริหารทราบ เพื่อแก้ไขและตรวจติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบสารสนเทศงานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลการควบคุม กำกับ และพัฒนางานอาหารปลอดภัยในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ.ได้กำชับผู้บริหารโรงเรียนและหัวหน้าฝ่ายการศึกษาทุกสำนักงานเขต เพื่อทราบและระมัดระวังกรณี อย.ออกประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารผลิตภัณฑ์ "โบโลน่าแซนด์วิช" รวมทั้งตรวจสอบดูแลและปฏิบัติตามมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตตรวจสอบ ให้คำแนะนำการประกอบอาหาร การจำหน่ายอาหารในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบ นอกจากนั้น ยังได้จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหาร สนศ.ผู้บริหารสำนักงานเขตและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการบริหารจัดการโรงเรียนด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาคารเรียน อาคารประกอบ ถังน้ำใต้ดิน อาคารลิฟต์ โดยตรวจสอบและปรับปรุงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีความปลอดภัย สำรวจอาคารที่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้เป็นที่พักอาศัยรวม เพื่อสวัสดิการคุณครู ตลอดจนดูแลสุขาภิบาลอาหารทั้งภายในและภายนอกรอบบริเวณโรงเรียน รวมถึงกำชับการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน รองรับการประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (Education Sandbox)
ที่มา: กรุงเทพมหานคร