การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (healthy diet) และการจัดทำโปรไฟล์สารอาหาร (nutrient profiling) เพื่อส่งเสริมนิสัยการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นในประเด็นทางโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอาหารเอเชีย ทั้งนี้การศึกษาวิจัยจากทั่วโลกพบว่า การบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ร่วมกับการรักษาน้ำหนักตัว การออกกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และเบาหวาน ลงได้ถึง 80% ในขณะที่ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียกำลังประสบปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนิสัยการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับทวีปอื่นๆ
นอกจากนี้ ปริมาณการบริโภคเกลือ เป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากหลายประเทศในทวีปเอเชีย มีปริมาณการบริโภคเกลือมากเป็นอันดับต้นๆของโลก การบริโภคเกลือมากเกินไปเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าการลดปริมาณการบริโภคเกลือ ให้เป็นไปตามคำแนะนำ จะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคต่างๆดังกล่าว ได้ถึง ปีละ 2.5 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และมาตรการ ที่หลากหลาย ตั้งแต่การให้ความรู้และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนัก การเพิ่มการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การเพิ่มกิจกรรมทางกาย และการดำเนินนโยบายส่งเสริมสุขภาพ
ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล