ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ที่ BBB-/AA(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ศุกร์ ๒๗ มกราคม ๒๐๒๓ ๑๐:๓๖
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ที่ 'BBB-' อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ 'AA(tha)'

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจในปีงบการเงิน 2566 ฟิทช์เชื่อว่า ThaiBev จะยึดมั่นในนโยบายของบริษัทฯ ที่จะลดระดับหนี้สินลง ดังนั้นอันดับเครดิตจึงสะท้อนถึงการที่บริษัทฯ จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ นอกเหนือจากการที่บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ในประเทศไทย

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินลดลงอย่างต่อเนื่อง- ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 (สิ้นปีงบการเงิน 2566) และประมาณ 3.0 เท่า ในปีงบการเงิน 2567 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวในทุกธุรกิจของบริษัทฯ ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ ThaiBev น่าจะยังคงอยู่ในระดับ 4.5 พันล้านถึง 5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการตลาดและ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจตามปกติ โดยไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่

การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของผลประกอบการ- ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ ThaiBev จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปีในปีงบการเงิน 2566 และในอัตราร้อยละ 3-4 ต่อปีในปีงบการเงิน 2567 ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า คือร้อยละ 4-5 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2566 ท่ามกลางแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การเปิดประเทศเต็มรูปแบบเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา หลังจากมีการยกเลิกข้อจำกัดในการเปิดให้บริการของสถานบันเทิง ผับ บาร์ และร้านอาหาร ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นปัจจัยที่น่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายเบียร์ และสุราสีในร้านอาหาร และสถานบันเทิง รวมทั้งธุรกิจอาหาร

แรงกดดันต่ออัตราส่วนกำไรอยู่ในระดับที่จัดการได้- การปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และความพยายามอย่างต่อเนื่องของ ThaiBev ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุน น่าจะส่งผลให้ ThaiBev สามารถรักษาอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) ให้อยู่ในระดับร้อยละ 26-27 ได้ในปีงบการเงิน 2566 และที่ประมาณร้อยละ 27 ในปีงบการเงิน 2567 (ปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 27.3) แรงกดดันจากต้นทุนพลังงานและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นน่าจะผ่อนคลายลงในปีงบการเงิน 2566 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายน่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกิจกรรมทางธุรกิจที่ฟื้นตัวกลับมา

ฟิทช์คาดว่าต้นทุนวัตถุดิบสำหรับธุรกิจเบียร์จะเพิ่มสูงขึ้นในปีงบการเงิน 2566 จากสัญญาจัดหาวัตถุดิบฉบับใหม่ ซึ่งน่าจะมีราคาตามสัญญาที่สูงกว่าสัญญาฉบับเดิมที่ใช้สำหรับการผลิตในปีงบการเงิน 2565 แม้ว่า ThaiBev จะชี้แจงว่าราคาตามสัญญาใหม่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบัน EBITDA ของ ThaiBev เพิ่มขึ้นร้อยละ11.5 มาอยู่ในระดับประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทในปีงบการเงิน 2565 แม้ว่าอัตราส่วน EBITDA margin จะลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 27 จากระดับร้อยละ 29 ในช่วงปีงบการเงิน 2563-2564 การลดลงของอัตราส่วนกำไรดังกล่าว เป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งสัดส่วนที่มากขึ้นของยอดขายสุราขาวที่มีอัตรากำไรต่อยอดขายที่ต่ำกว่าสุราสี ในช่วงครี่งปีแรกของปีงบการเงิน 2565

การฟื้นตัวของธุรกิจในภูมิภาค - ฟิทช์คาดว่าธุรกิจในภูมิภาคจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศเมียนมา ธุรกิจในเวียดนามมีอัตราการเติบโตของ EBITDA ในอัตราร้อยละ 58-59 ต่อปีในปีงบการเงิน 2565 หลังจากที่มีการปรับตัวลดลง 2 ปีติดต่อกัน ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของ EBITDA จะชะลอตัวลงในปีงบการเงิน 2566 เช่นเดียวกันกับธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากแรงกดดันทางด้านต้นทุน แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวของรายได้ที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของธุรกิจในเมียนมาก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีงบการเงิน 2565 เช่นกัน จากการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่องและความพยายามของบริษัทฯ ในการรักษาระดับอัตราส่วนกำไร ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเมืองในประเทศ

ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาค - สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาค รวมถึงสถานะผู้นำในตลาดสุราในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา บริษัทฯ ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในระดับร้อยละ 35-40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยและเวียดนาม การขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนามและเมียนมา ช่วยให้ ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 80 ของ EBITDA รวม จากเดิมที่สูงกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560

ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco - ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์มองว่า ThaiBev และ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) บริษัทย่อยในประเทศเวียดนาม มีความเกี่ยวโยงในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจอยู่ในระดับสูง แม้ว่าบริษัทฯ จะถือหุ้นใน Sabeco ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 53.6 ฟิทช์จึงพิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) รวมของทั้งสองบริษัท แต่หักเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกในการคำนวณ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังถือว่าเงินสดในมือของ Sabeco ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (จำนวนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2565) เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพันซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดในภูมิภาคซึ่งถูกชดเชยด้วยการที่บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าเหล่านี้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพียงธุรกิจเดียว ซึ่งทำให้มีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่ ThaiBev มีโครงสร้างกลุ่มธุรกิจที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความผันผวนมากกว่า

ThaiBev และ Bacardi Limited (BBB-/Stable) มีสถานะทางเครดิตที่ใกล้เคียงกัน สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดในธุรกิจสุราในประเทศไทยที่แข็งแกร่งอย่างมาก และสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย รวมทั้งสถานะผู้นำในธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนามและธุรกิจสุราในประเทศเมียนมา ซึ่งได้สะท้อนผ่านอัตราส่วนกำไรของ ThaiBev ที่สูงกว่า Bacardi ในขณะที่ Bacardi มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจสุรา รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงในเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า ThaiBev Bacardi มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ThaiBev โดยทั้ง ThaiBev และ Bacardi อยู่ในช่วงลดอัตราส่วนหนี้สินลง หลังจากที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการในช่วงปี 2560-2561

สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev แข็งแกร่งกว่าผู้ผลิตเบียร์ในประเทศตุรกี ได้แก่ Anadolu Efes Biracilik ve Malt Sanayii A.S. (Efes, BB+/RWN) โดย ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า มีสถานะทางการตลาดในประเทศและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งกว่า แม้ว่า Efes จะมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ThaiBev มาก แต่สถานะทางการเงินของ Efes อาจจะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทายในตลาดหลักที่ใหญ่ที่สุด 2 ตลาดของ Efes ซึ่งได้แก่ประเทศตุรกี และรัสเซียรวมถึงยูเครน ดังนั้น Efes จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับ โดยเครดิตพินิจเป็นลบ ของ Efes สะท้อนถึงแรงกดดันต่ออันดับเครดิตจากแผนการเข้าซื้อกิจการที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สินของ Efes เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ สถานะทางเครดิตของ ThaiBev อยู่ในระดับต่ำกว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก ThaiBev มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกัน ในฐานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจของตน

ThaiBev มีความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง a+(tha)) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC, อันดับเครดิต A+(tha), แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) โดย ThaiBev มีสถานะทางตลาดและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow, FCF) ที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีอัตราส่วน FCF ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 8 รวมถึงการเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำกว่า ในขณะที่ PTTGC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตรากำไรในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน แม้ว่า SCC จะมีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย แต่ธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์ และธุรกิจเคมิคอลส์ ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นเดียวกัน

ทั้ง PTTGC และ SCC มี FCF เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง และความผันผวนของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น ThaiBev จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ SCC และสถานะทางเครดิตโดยลำพังของ PTTGC อยู่สองอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจในประเทศไทยเติบโตในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2566 และอัตราร้อยละ 2.5-3 ต่อปีในปีงบการเงิน 2567-2568 (อัตราการเติบโตร้อยละ 9.8 ในปีงบการเงิน 2565)
  • รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) รวมของ Grand Royal Group (GRG) บริษัทย่อยในประเทศเมียนมา และ Sabeco เติบโตในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2566 และอัตราร้อยละ 4-6 ต่อปีในปีงบการเงิน 2567-2568 (อัตราการเติบโตร้อยละ 42.5 ในปีงบการเงิน 2565)
  • EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 32.5 ในปีงบการเงิน 2566 และปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 33-34 ในปีงบการเงิน 2567-2568 สำหรับธุรกิจในประเทศไทย (ในปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 33) ในขณะที่อัตราส่วนดังกล่าวสำหรับ GRG และ Sabeco ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 21 ในปีงบการเงิน 2566-2568 (ในปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 21.9)
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 4.5 พันล้านบาท - 4.8 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2566-2568 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.5 ของรายได้รวม
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ที่ร้อยละ 50 ในปีงบการเงิน 2566-2568

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • EBITDA net leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำที่แข็งแกร่งทั้งในสินค้าหลักและตลาดหลักของบริษัท รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ
  • โครงสร้างกลุ่มบริษัทที่มีความซับซ้อนน้อยลง และการที่ ThaiBev มีฐานะเป็นผู้ประกอบการและมีการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแต่เพียงธุรกิจเดียว

ปัจจัยลบ:

  • EBITDA net leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
  • มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง
  • กระแสเงินสดสุทธิที่อ่อนแอลงจนอยู่ในระดับศูนย์หรือติดลบ

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นปีงบการเงิน 2565 จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมธนาคาร 8.3 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยสภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินสดที่มีภาระผูกพันตามคำจำกัดความของฟิทช์) และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (committed revolving facilities ) ที่ยังไม่ได้เบิกถอนประมาณ 3.8 พันล้านบาท

ThaiBev ได้มีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ซึ่งมีจำนวนเงินรวม 1.3 หมื่นล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และได้รับวงเงินกู้ระยะยาว 4 ปีจำนวนเงินรวม 1 หมื่นล้านบาทจากธนาคาร ในเดือนธันวาคม 2565 สถานะทางเครดิตและการสร้างกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งของ ThaiBev เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงตลาดทุนและเงินกู้ยืม ซึ่งสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ

ข้อมูลบริษัท
ThaiBev เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจหลัก 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสุรา ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร ThaiBev มีการลงทุนในสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมใน GRG บริษัทผู้ผลิตสุราชั้นนำในประเทศเมียนมาและ Sabecco บริษัทผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำในประเทศเวียดนาม ในปี 2560 นอกจากนี้ ThaiBev ยังมีบริษัทร่วมซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้แก่ Fraser and Neave Limited ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ Frasers Property Limited ซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญ
เงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดของ Sabeco ถูกปรับปรุงโดยรวมเฉพาะมูลค่าตามสัดส่วนการควบคุมกิจการที่ร้อยละ 53.6

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)
ThaiBev มีคะแนนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG Relevance Score) ในด้านโครงสร้างกลุ่มบริษัท (Group Structure) อยู่ที่ระดับ 4 เนื่องจากบริษัทฯ มีโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ ที่ค่อนข้างซับซ้อน ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสถานะทางเครดิต และมีผลต่ออันดับเครดิตเมื่อพิจารณาประกอบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

เว้นแต่ที่ได้เปิดเผยเพิ่มเติมในส่วนนี้ ระดับคะแนนสูงสุดของ ESG Relevance Score อยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายถึงประเด็นเกี่ยวกับ ESG ไม่มีผลต่อสถานะทางเครดิตหรือมีผลกระทบที่เล็กน้อยมากต่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ อันเนื่องมาจากลักษณะทางธุรกิจหรือวิธีการจัดการของบริษัท ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ของฟิทช์ หาได้ที่ www.fitchratings.com/esg

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ