นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ นี้ได้ลงพื้นที่ ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง อ. ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ และด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อติดตามการปฏิบัติงานการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พืชและผลิตภัณฑ์ ที่มีความเสี่ยงของโรค แมลงศัตรูพืช ที่มีความเสียงสูง ต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงประกาศที่เกี่ยวกับการนำเข้า ของกรมวิชาการเกษตร
ปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหมด ๔๓๘,๐๙๕ ชิปเมนท์ มูลค่าการนำเข้าประมาณ ๓๗๗,๙๙๕.๐๑๐ ล้านบาท กลุ่ม ๓ ลำดับแรกที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลือง กากข้าวโพด ข้าวสาลี นอกจากสินค้ากลุ่มนี้แล้วการนำเข้ายังมีกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงกับราคาผลิตของเกษตร เช่น การนำเข้ามะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ได้กำหนดด่านนำเข้าเพียง ๒ ด่าน คือ ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โดยใน ปี ๒๕๖๕ มีการนำเข้ารวมประมาณ ๑๓๙,๖๕๓ ตัน ๑,๓๗๐ ชิปเมนท์ มูลค่าประมาณ ๑,๓๙๔ ล้านบาท แยกเป็น เวียดนาม ๔๙,๐๔๒ ตัน ๔๕๙ ชิปเมนท์ มูลค่า ๔๖๘ ล้านบาท จากอินโดนีเซีย ๙๐,๖๑๑ ตัน ๙๑๑ ชิปเมนท์ มูลค่า ๙๒๖ ล้านบาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้มอบนโยบายโดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช เข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าควบคุม มีความเสี่ยงจะกระทบกับเกษตรกร ระบบการผลิตพืช และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรต้องเข้มงวด กับการสำแดงเอกสารตรงตามรายการสินค้าที่ตรวจปล่อย ตามเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้า (License per Invoice) เช่น มะพร้าว หอม กระเทียม เป็นกลุ่มสินค้าควบคุม มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นทุกด่านตรวจพืชต้องเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าภายใต้กฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแล เพื่อป้องกันการลักลอบ และการสำแดงเท็จ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาผลผลิตของเกษตรกรภายในประเทศ
พร้อมกันนี้นายตรวจพืชต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขการนำเข้า ในคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด เต็มความสามารถ รวมถึงการเพิ่มความสามารถของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืช เช่น ฝึกอบรม และประสานงานร่วมกับหน่วยงานตรวจร่วมกับหน่วยงานศุลกากรอย่างใกล้ชิด ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลใบอนุญาตผ่านระบบ NSW เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า เพื่อป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวัง โรค และศัตรูพืชที่อาจจะติดมาก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชร้ายแรง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจ และระบบการผลิตพืชของประเทศไทย
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร