ในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯจะมีอายุครบ 54 ปี ตลอดการดำเนินงานเรามุ่งมั่นทำงานในฐานะองค์กรการกุศลที่มีภารกิจในการระดมทุนเพื่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งผลลัพธ์จากการให้ของประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถูกแสดงให้เห็นผ่านการให้บริการทางการแพทย์ และการผลิตบุคลากรการแพทย์ในฐานะโรงเรียนแพทย์ โดยจะเห็นได้จากความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาวที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ระดมทุน ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิรามาธิบดีฯ มีโครงการระดมทุนหลายโครงการด้วยกัน เช่น
- โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
- โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
- โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้
- โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี
- โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
- โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯมีโครงการหลักที่จะต้องเร่งระดมทุนใน 2 โครงการดังนี้
1. โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
โครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ที่จะทำหน้าที่ทดแทนอาคารเดิม ผู้ป่วยที่มาใช้บริการสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มศักยภาพเทียบเท่าอาคารเดิม มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการ ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อนซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้โครงการนี้เป็นพื้นที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน เพื่อร่วมพัฒนาต่อยอดในด้านสาธารณสุขของประเทศให้มีศักยภาพในระดับสากล สามารถแข่งขันได้ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ได้ต่อไป
ครงการนี้จะเป็นอาคารสูง 25 ชั้นและมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า โดยคาดการณ์ว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ถึง 2.5 ล้านครั้งต่อปี และให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 55,000 คนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ 2571 (อีก 5 ปีข้างหน้า) และแม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐบางส่วน แต่โครงการยังคงขาดงบประมาณด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท
2. โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้
เป็นโครงการเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งมูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท ได้แก่ ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช ภิกษุ แม่ชี ผู้ป่วยเร่ร่อน ผู้ป่วยจากภัยพิบัติ ผู้ป่วยต่างด้าว รวมถึงผู้ป่วยระดับกลางที่ใช้สิทธิประกันตน หรือใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิหลายกรณี เช่น สิทธิไม่ครอบคลุมบางโรค ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ผู้ป่วยต้องชำระเพิ่มเติมเอง นอกจากนี้ยังช่วยเหลือครอบคลุมไปดูแลปัญหาด้านจิตใจ ครอบครัว และช่วยค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากรามาธิบดี มีความเชี่ยวชาญ และเป็นความหวังของผู้ป่วยทางด้านโรคซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาสูงมาก และใช้ระยะเวลาการรักษาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยใน แต่ละปีมูลนิธิได้ใช้งบประมาณการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีรายได้ถึง 40% และการช่วยเหลือส่วนที่เหลือไปยังผู้ป่วยผู้มีรายได้ต่ำ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นผู้ป่วยเด็กและผู้สูงวัยกว่า 57%
ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาสัดส่วนเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้คิดเป็น 19% จากโครงการทั้งหมดที่มูลนิธิระดมทุนอยู่ โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยยากไร้รายใหม่ที่ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิฯเพิ่มขึ้นกว่า 4% เมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2564
3. แคมเปญ "ความสุขจากการให้…ไม่สิ้นสุด"
แคมเปญที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์แห่ง "การให้" จากน้ำใจของคนไทยผ่านการรวบรวมเสียงแทนคำขอบคุณของเหล่าผู้ป่วยภายใต้โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ที่ได้รับการช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลจากน้ำใจของคนไทย และเพื่อตอกย้ำว่า "การให้" จาก "ผู้บริจาค" ที่ส่งต่อความสุขไปยังผู้รับหรือ "ผู้ป่วย"ยังทำให้เกิดความสุขอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น ความสุขของผู้บริจาคที่ได้เห็นผู้ป่วยหายดีได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือการมอบทุนทรัพย์ให้กับนักศึกษาผ่านโครงการ "ทุนการศึกษารามาธิบดี" เพื่อมุ่งสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้นำความรู้มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมไทย หรือแม้กระทั่งความสุขที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตและโครงการต่างๆที่มูลนิธิให้การดูแลอยู่อีกมากมาย
เทรนด์การทำกิจกรรมด้านการกุศลของคนยุคใหม่
- เพราะคนไทยมีน้ำใจและถูกปลูกฝังให้ช่วยเหลือกัน ทุกครั้งที่เกิดความต้องการเร่งด่วน อย่างเหตุการณ์โรคอุบัติใหม่ อุบัติภัยทางธรรมชาติ การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่ คนไทยก็จะร่วมช่วยเหลือตามกำลังที่มี นอกเหนือจากการบริจาคเงิน อาจจะเป็นการให้แรงกาย แรงใจ ความสามารถเป็นจิตอาสา บางคนก็ช่วยเหลือโดยการบอกต่อ กดไลค์ กดแชร์ สำหรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เราเชื่อว่าการให้จากทุกน้ำใจนั้นมีคุณค่า และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกมาก
- ความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ เป็นสิ่งที่คนในสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งตรงกับหลักการบริหารจัดการของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในทุกโครงการของเรามีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน และนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริหาร ซึ่งท้ายที่สุด ความคืบหน้าและผลลัพธ์ของแต่ละโครงการนั้นสามารถก่อประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- Online Donation ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำบุญออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ เองได้ทำการปรับปรุงการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัยตลอดมา บนพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้ผู้บริจาคสะดวกสบายที่สุด รวมถึงช่องทางการสนับสนุนของที่ระลึกการกุศลทางออนไลน์อีกด้วย ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีเองก็มี ช่องทางการรับบริจาคออนไลน์ที่จัดทำมามากกว่า 10 ปี และจากปีที่ผ่านมาสัดส่วนการบริจาคออนไลน์ (ดูจากจำนวนใบเสร็จ) อยู่ที่ 63 % โดยที่การบริจาคแบบออฟไลน์อยู่ที่สัดส่วน 37% ซึ่งการบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดการระบาดของโควิด-19
Generation ของกลุ่มผู้บริจาคในปีที่ผ่านมาและแผนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในปี 2566
- สัดส่วนกลุ่มผู้บริจาคบุคคลธรรมดากว่า 40% ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ มาจากผู้บริจาคกลุ่ม Gen X ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยมีสัดส่วนของผู้บริจาคที่อยู่ในช่วงอายุ 45-60 ปี และ 60 ปีขึ้นไปใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริจาคที่มียอดบริจาคต่อรายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริจาคบุคคลธรรมดาในช่วงอายุอื่น ๆ
- จากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาระหว่างปีพ.ศ. 2563-2564 มูลนิธิฯ มียอดบริจาคจากกลุ่ม Gen Z (9-24 ปี) สูงขึ้น 2 เท่าจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 จากการระดมทุนเพื่อโครงการเร่งด่วน และเห็นผลลัพธ์จากการให้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้น โดยในปีพ.ศ. 2565 ยอดบริจาคจากผู้บริจาคกลุ่มนี้ลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงมียอดบริจาคสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19
- ในแง่ของการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้นำเอาความชื่นชอบของคนกลุ่มนี้มาพัฒนาการทำงานมากขึ้น เช่น การจัดทำของที่ระลึกโดยใช้การ์ตูนคาแรคเตอร์ที่ได้รับความนิยม เช่น ไลน์เฟรนด์ (LINE Friends), เฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty), สนูปี้ (Snoopy) ฯลฯ หรือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นศิลปินกลุ่มคนรุ่นใหม่มาช่วยโปรโมทแคมเปญต่างๆ เช่น การเปิดตัวของที่ระลึกการกุศล Power of Giving เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ได้ตัวแทนจากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของไทย เช่น PAINKILLER Atelier, Kloset & Etcetera, DISAYA, Greyhound Original, SMILEYHOUND มาร่วมงาน นอกจากนี้ในหน้า Facebook แฟนเพจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังมีการทำคอนเทนต์เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เช่น คอนเทนต์วอลเปเปอร์เสริมความสุข…ไม่สิ้นสุด 12 ราศี พร้อมเลขมงคล จากอาจารย์ไวท์ หมอดูโอปป้า เพื่อสร้างความหลากหลายของคอนเทนต์ที่เราสื่อสารออกไป
- ในส่วนของแผนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในปีนี้มูลนิธิยังคงมีการร่วมมือกับแบรนด์ลิขสิทธิ์แท้ Peter Rabbit และ My Melody ถือเป็นความพิเศษที่มูลนิธิมีความตั้งใจเพิ่มความหลายหลาย ผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ทุกท่านได้เข้าถึงการทำบุญได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา: เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย