โดยในประเทศไทยความต้องการทองคำของผู้บริโภคในไตรมาสที่ 4/2565 เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบเป็นรายปี กล่าวคือเพิ่มจาก 12.4 ตัน ในไตรมาสที่ 4/2564 ไปเป็น 13.5 ตัน ด้วยแรงหนุนจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่สูงขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายปี จาก 10.0 ตัน ในไตรมาส 4/2564 เป็น 10.8 ตันในไตรมาส 4/2565 และความต้องการอัญมณีเพิ่มขึ้น 15% จาก 2.4 ตัน ในไตรมาส 4/2564 ไปเป็น 2.8 ตัน ในไตรมาส 4/2565
Mr. Andrew Naylor ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค APAC (ไม่รวมประเทศจีน) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า "แม้ตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนจะมีการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มมากขึ้นในปี 2565 แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำรายปีได้ลดลงมาเล็กน้อย โดยมาอยู่ที่ 28.5 ตัน ในขณะที่ความต้องการอัญมณีรายปีในประเทศยังคงค่อนข้างซบเซาหากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดแม้ว่าความต้องการรายไตรมาสจะสูงกว่าก็ตาม"
หากมองในภาพรวมของทั่วโลกแล้วความต้องการรายปีของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวไปอยู่ที่ 1,136 ตัน ในปี 2565จาก 450 ตัน ในปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการทุบสถิติในรอบ 55 ปี โดยมียอดซื้อในไตรมาส 4/2565 เพียงไตรมาสเดียวที่สูงถึง 417 ตัน ซึ่งทำให้ยอดรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 พุ่งไปมากกว่า 800 ตัน
ความต้องการในฝั่งการลงทุน (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) สำหรับปี 2565 เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา โดยมีผลมาจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ การชะลอตัวของเงินทุนไหลออก ETF ที่เห็นได้ชัดและความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่แข็งแกร่ง ซึ่งทองคำแท่งและเหรียญทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมของนักลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก จึงนับว่าเป็นปัจจัยที่มาช่วยชดเชยความต้องการที่ถดถอยในประเทศจีน ในฝั่งของด้านประเทศในยุโรป การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำรวมในปี 2565 พุ่งทะลุ 300 ตัน จากแรงหนุนของความต้องการที่มีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในเยอรมนี นอกจากนี้ ความต้องการยังเพิ่มขึ้นอย่างมากในพื้นที่ตะวันออกกลาง โดยดีมานด์รายปีเพิ่มขึ้นถึง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ความต้องการอัญมณีในปี 2565 ลดลงเล็กน้อยที่ 3% มาอยู่ที่ 2,086 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการของอัญมณีในประเทศจีนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดกว่า 15% เนื่องจากการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในไตรมาสที่ 4 ยังส่งผลให้ความต้องการอัญมณีรายปีลดลงอีกด้วย อุปทานของปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาแตะ 4,755 ตัน และยังคงสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด อีกทั้งการทำเหมืองทองคำยังเพิ่มขึ้นเป็น 3,612 ตัน ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบสี่ปีที่ผ่านมา
Ms. Louise Street นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลก (World Gold Council) กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นระดับความต้องการทองคำรายปีที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่สูงของธนาคารกลางเพื่อสำรองไว้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ด้วยการขับเคลื่อนความต้องการที่มีความหลากหลายของตลาดทองคำมีบทบาทในการสร้างความสมดุล แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออก ETF ในทางเทคนิค แต่ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกระตุ้นให้มีการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ โดยความต้องการในการลงทุนเพิ่มขึ้นที่ 10% จากปีที่ผ่านมา"
"ในปี 2566 นี้ จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเล็งเห็นสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายและภาวะเศรษฐกิจที่อาจถดถอยลงทั่วโลก อาจทำให้แนวโน้มของการลงทุนทองคำเปลี่ยนไป หากอัตราเงินเฟ้อลดลงในอนาคต การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำอาจมีอุปสรรค และในทางกลับกันความต้องการกองทุนทอง ETF อาจได้รับอานิสงส์จากกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระดับปานกลาง โดยเราน่าจะเห็นว่าการบริโภคอัญมณียังคงอยู่ในระดับที่ฟื้นตัวได้ด้วยแรงหนุนจากความต้องการที่กลับมาเมื่อประเทศจีนเปิดประเทศอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจร่วงหนักกว่าเดิม ผู้บริโภคจะต้องรัดเข็มขัดในส่วนของรายจ่าย ซึ่งอาจเป็นการทำให้ดีมานด์ในส่วนนี้ลดต่ำลง แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้หลากหลาย แต่ทองคำก็เคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจนั้นมีความผันผวนและโดดเด่นในด้านของมูลค่าในฐานะสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ระยะยาว"
สามารถอ่านรายงาน Gold Demand Trends ฉบับครอบคลุมข้อมูลสำหรับไตรมาส 4/2565 ของทาง Metals Focus ได้ ที่นี่ https://tracker.gold.org/l/824153/2023-01-27/89bq5
สภาทองคำโลกฉลองครบรอบ 30 ปี ในการเป็นผู้รวบรวมข้อมูลรายงาน Gold Demand Trends เรียนรู้เพิ่มเติม ที่นี่ https://tracker.gold.org/l/824153/2023-01-27/89bw2
ที่มา: เอเดลแมน (ประเทศไทย)