ภารกิจต่อยอดความสำเร็จในปี 2566
ปี 2565 ที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของฟอร์ด ประเทศไทย จากยอดขายที่เติบโตขึ้นถึง 35% เติบโตสูงกว่าตลาดรวมซึ่งเติบโต 12% โดยในปีที่ผ่านมา ฟอร์ดมียอดขายรวมอยู่ที่ 43,628 คัน นอกจากนี้ ยังนับเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ฟอร์ดเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่ยอดขายรวมต่อเดือนของฟอร์ดขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม โดยฟอร์ด เรนเจอร์ ครองตำแหน่งรถกระบะที่ขายที่ดีที่สุดอันดับ 3 อย่างเหนียวแน่น และฟอร์ด เอเวอเรสต์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นรถที่ขายดีที่สุดต่อเดือนติดอันดับ 3 ในตลาดรถยนต์นั่งอเนกประสงค์
นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เผยถึงรายละเอียดแผนการดำเนินงานเพื่อผลักดันธุรกิจฟอร์ด ประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นในปี 2566 ว่า "ในปีนี้ ฟอร์ดตั้งใจขยายรากฐานความสำเร็จให้เติบโตยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าผลักดันกลยุทธ์การต่อยอดธุรกิจจากจุดแข็งที่ฟอร์ดมี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า การส่งเสริมและพัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงการสร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรเชิงบวก ภายใต้แนวคิด 'มุ่งมั่นที่จะแข่งขันและใส่ใจดูแลกันและกัน' เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งในการทำงานระหว่างทีมงานทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการยกระดับการบริการลูกค้าเพื่อส่งมอบประสบการณ์การเป็นเจ้าของรถยนต์ฟอร์ดที่น่าประทับใจให้แบรนด์ฟอร์ดครองใจผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน"
พร้อมกันนี้ ฟอร์ดยังได้แนะนำนายอรรถกร จารุศิลาวงศ์ ที่ได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขาย ฟอร์ด ประเทศไทย โดยนายอรรถกรจะรับผิดชอบด้านการขายทั้งหมด โดยมุ่งเน้นการสร้างความสดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ รวมถึงผลักดันรถสปอร์ตในตำนาน ฟอร์ด มัสแตง ให้มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ครองใจลูกค้าด้วยบริการประทับใจ
ฟอร์ดมุ่งเน้นนโยบายด้านบริการแบบ 'พร้อมเสมอ' เพื่อตอกย้ำความตั้งใจในการดูแลลูกค้าเสมือนคนในครอบครัว ด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยยกระดับงานด้านบริการ ซึ่งในปี 2565 ฟอร์ด ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย เช่น
- การที่ผู้ซื้อรถฟอร์ด เจเนอเรชันใหม่ ในประเทศไทย มีอัตราการเปิดใช้โมเด็มและดาวน์โหลด แอปพลิเคชันฟอร์ดพาส สูงถึง 97% ซึ่งถือเป็นประเทศที่มียอดการใช้งานสูงสุดเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานรถยนต์ฟอร์ด เจเนอเรชันใหม่ ทั่วโลก
- จำนวนลูกค้านัดหมายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้ารับบริการที่ศูนย์ฯ หรือ Online Service Booking โดยนัดหมายผ่านแอปพลิเคชันฟอร์ดพาสและเว็บไซต์ฟอร์ด ราว 40,000 ครั้ง
- บริการรับ-ส่งรถนอกสถานที่ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการนำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการด้วยตนเอง ได้รับกระแสตอบรับที่ดี โดยตลอดทั้งปีมีผู้ใช้บริการกว่า 18,000 ครั้ง
- บริการรถให้บริการเคลื่อนที่ (Mobile Service Vehicle) ที่เริ่มนำรถรุ่นใหม่ออกให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้านอกสถานที่ได้หลากหลายยิ่งขึ้นและเข้าถึงลูกค้าในพื้นที่ห่างไกลด้วยมาตรฐานเดียวกับศูนย์บริการ ให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 6,800 ครั้งทั่วประเทศ
- มียอดการใช้บริการรับประกันเช็กระยะใน 60 นาทีถึง 57,000 ครั้ง
- ช่องทาง E-Commerce ของฟอร์ดซึ่งมอบประสบการณ์ชมรถเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟ เอดจ์ อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อรถผ่านอุปกรณ์มือถือได้ทันที มีลูกค้าผู้สนใจขอใบเสนอราคาผ่านช่องทางนี้ราว 4,000 คน
- Ford online showroom ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่เยี่ยมชมรถฟอร์ด เจเนอเรชันใหม่ได้เสมือนไปอยู่ที่ โชว์รูมฟอร์ด และยังนัดหมายให้ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์มาแนะนำรายละเอียดรถในจุดต่างๆ ที่ลูกค้าสนใจมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 130,000 ราย ตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
นายสันติ จิตพิชิตชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวถึงความตั้งใจในการเดินหน้ายกระดับการดำเนินงานของฝ่ายบริการลูกค้าของฟอร์ดว่า "ฟอร์ดพร้อมยกระดับความพร้อมด้านบริการไปอีกขั้นด้วยการเปิดศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมบุคลากรฟอร์ดแห่งใหม่ล่าสุด ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรผู้จำหน่ายฟอร์ดทั่วประเทศให้ดูแลลูกค้าด้วยมาตรฐานการบริการระดับโลก โดยฟอร์ดได้ลงทุนกว่า 224 ล้านบาท เพื่อออกแบบสถานที่แห่งนี้ให้มีความทันสมัย มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ครบครัน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเสริมทัพความแข็งแกร่งด้านการบริการลูกค้าของฟอร์ด ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟอร์ดให้ความสำคัญสูงสุด"
ภายในงาน ฟอร์ดได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งมาพร้อมความทันสมัยในทุกมิติ โดยฟอร์ดได้แบ่งพื้นที่การอบรมและปฏิบัติงานฝ่ายต่างๆ ได้แก่
- ฝ่ายพัฒนาบุคลากรผู้จำหน่าย บริเวณโชว์รูม ชั้น 1 มีพื้นที่จำลองสถานการณ์ บรรยากาศเสมือนจริง เพื่อให้พนักงานได้ฝึกทักษะการขาย และการให้บริการหลังการขายได้อย่างสมจริง
- ฝ่ายอบรมช่างเทคนิค มีห้องปฏิบัติการสำหรับการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมให้ทีมงานฝ่ายเทคนิคใช้ในการฝึกทักษะพื้นฐานในการบำรุงรักษาและให้บริการรถยนต์
- ฝ่ายบริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ (Ford Call Center) และทีมงานผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ (Ford Product Expert) บริเวณชั้น 2 ซึ่งมีอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเต็มรูปแบบ ตอบโจทย์การทำงานของพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาในการให้บริการลูกค้า
ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมบุคลากรฟอร์ดแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยเสริมทัพความแข็งแกร่งด้านการบริการลูกค้าของฟอร์ด เพื่อสร้างความพร้อมให้กับบุคลากรในการดูแลลูกค้าด้วยมาตรฐานระดับโลก ตอกย้ำแนวทางการดำเนินงานของฟอร์ดที่เน้นการสร้างความทันสมัยในทุกมิติ และความมุ่งมั่นที่จะดูแลลูกค้าเสมือนคนในครอบครัวตามนโยบายแบบ 'พร้อมเสมอ' หรือ 'Always-On'
ที่มา: ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์