โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่ 1. บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย 2. บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable SDN. BHD. และ Planet Utility Co., Ltd. เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย 3. บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation SDN. BHD. และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ 4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในครั้งนี้ ทีเอ็นบี เพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น เอสดีเอ็น.บีเอชดี. จะนำเข้าพลังงานหมุนเวียน (พลังงานน้ำ ลม และแสงอาทิตย์) 200 เมกะวัตต์ จาก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ลาว) จำกัด บริษัทใน เครือของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผ่านกลไกของโครงการเชื่อมโยงระบบพลังงาน ลาว-ไทย-มาเลเซีย (Lao PDR-Thailand-Malaysia Power Integration Project : LTM-PIP) รวมถึงร่วมกันพัฒนาโครงการที่เห็นชอบร่วมกัน ทั้งในโครงการที่สร้างเสร็จและมีรายได้แล้ว (Brownfield Project) และ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา (Greenfield Project) ของบี.กริม เพาเวอร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ทีเอ็นบี เพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น เอสดีเอ็น.บีเอชดี. อาจพิจารณาถือหุ้นในโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมียุทธศาสตร์และจุดมุ่งหมายในการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนไปยังประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ในอนาคตทั้ง 2 ฝ่าย ยังเดินหน้าแสวงหาโอกาสและข้อตกลงร่วมกันในโครงการอื่นๆ ที่เป็นไปได้ในอนาคต
ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งมีเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
ที่มา: กู้ดวิล คอมมูนิเคชั่นส์