รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่คณะผู้บริหาร อว. ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบระบบรางรถไฟความเร็วสูงและศูนย์ทดสอบระบบรางของ CARS โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟรางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยความร่วมมือที่ได้จากการหารือในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และบุคลากรด้านระบบรางของไทย ให้มีค่าใช้จ่ายลดลงและมีประสิทธิภาพของระบบรางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ วว. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านระบบรางที่มีความโดดเด่นของไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างและการพัฒนาระบบรางร่วมกับ CARS ผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อขยายผลการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับระบบรางของจีน
โอกาสนี้ ผู้ว่าการ วว. ได้เสนอขอรับการสนับสนุนเพื่อการร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือขบวนรถ หรือ Overhead Catenary System : OCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ CARS ได้วิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้จริงแล้วในปัจจุบัน โดยความร่วมมือกับ CARS จะทำให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนระบบหัวจักรรถไฟจากระบบดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนั้นการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรสำหรับระบบดังกล่าวจากจีน จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยพัฒนาและการผลิตระบบหัวจักรไฟฟ้าของกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต
นอกจากนี้ฝ่ายจีน ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างยาวนาน พร้อมเน้นย้ำถึงแนวทางการพัฒนากำลังคนของจีนซึ่งยึดหลักการที่ว่า "คนเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี" ดังนั้นการพัฒนาด้านกำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ CARS มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และพร้อมถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในการฝึกอบรมบุคลากรให้กับฝ่ายไทย โดยยินดีต้อนรับบุคลากรวิจัยของไทยให้มาฝึกอบรมที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการหารือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศต่อไป
อนึ่ง วว. และ China Academy of Railway Sciences (CARS) มีความร่วมมือในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านขนส่งทางราง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการรับรองและทดสอบชิ้นส่วน และการลดมลภาวะในภาคอุตสาหกรรมขนส่งทางราง นับเป็นความร่วมมือที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านระบบรางจาก วว. ได้ที่ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการทดสอบ การรับรอง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้แก่บุคลากรและผู้ที่สนใจด้านระบบรางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งวัสดุผลิตภัณฑ์ งานทาง งานล้อเลื่อนและการตรวจสอบเพื่อการบำรุงรักษารถไฟ อีกทั้งได้รับการรับรองความสามารถทางห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 ด้านระบบรางครอบคลุมหลายผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9143 ต่อ 201 และ 304 E-mail : [email protected] https://www.tistr.or.th/rttc/ Facebook Page : https://www.facebook.com/RTTC.TISTR
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย