นางสาวไพลิน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ บริษัท ดิจิตอลโฟกัส จำกัด จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานการติดตั้งบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและกล้องติดรถยนต์ เพื่อเป็นพันธสัญญาที่จะร่วมกันพัฒนาทักษะและให้ความรู้แก่ช่างที่ประกอบอาชีพนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการติดตั้งกล้องวงจรปิดและกล้องติดในรถยนต์ได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้ให้แนวทางในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน เน้นย้ำการถ่ายทอดความรู้แก่แรงงานว่าต้องพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องและต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพ เพื่อให้แรงงานมีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ซึ่งการดำเนินงานดังล่าวจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นางสาวไพลิน กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันกล้องวงจรปิดและกล้องติดรถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ทั้งด้านความปลอดภัยและใช้เป็นหลักฐานประกอบกรณีมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น สามารถบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทำให้สามารถช่วยป้องกัน ทรัพย์สิน และลดเหตุร้ายที่สามารถเกิดขึ้น รวมทั้งสามารถมองเห็นภาพผ่านกล้องวงจรปิดบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ประชาชนจึงหันมาใช้กล้องวงจรปิดและกล้องติดรถยนต์มากยิ่งขึ้น ตลอดจน ผู้ผลิตมีการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบและคุณภาพของกล้อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่างและผู้ประกอบอาชีพ จึงจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้สามารถติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างถูกต้องมีมาตรฐาน รวมถึงสามารถอธิบายคุณสมบัติของกล้องแต่ละประเภทให้แก่ลูกค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับการใช้งาน ในปี 2566 บริษัทจะมอบเครื่องมืออุปกรณ์กล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่หน่วยงานของกรมเพื่อใช้ในการฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งและบำรุงรักษากล้องติดยานพาหนะแบบ 4G Mobile DVR จำนวน 8 ชุด รวมมูลค่ากว่า 87,000 บาท ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา อุดรธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ และนครสวรรค์ เป้าหมายดำเนินการจำนวน 320 คน รวม 8 รุ่นๆ ละ 40 คน
นายสมชาย ประจักษ์สูตร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิตอลโฟกัส จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทและกรมได้ร่วมกันฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งและบำรุงรักษากล้องวงจรปิดตั้งแต่ปี 2558 อบรมให้ความรู้แก่ช่างและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 1,200 คน และในปี 2565 จัดอบรมการติดตั้งและบำรุงรักษากล้องวงจรปิดแบบ IP Camera ระยะเวลาการฝึก 7 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการฝึกอบรมรวมทั้งสิ้น 550 คน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ช่างติดตั้งกล้องวงจรปิดของร้านค้าตัวแทนจำหน่ายหรือช่างทั่วไปที่สนใจ ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ยังเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างผู้เชี่ยวชาญการติดตั้งกล้องวงจรปิด อีกทั้ง เพื่อสร้างช่างมืออาชีพ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือ Gig Worker ตลอดจนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าหรือผู้รับบริการ โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม พร้อมจัดหากลุ่มเป้าหมาย วิทยากร และเอกสารประกอบการฝึกอบรม หน่วยงานของกรมจะให้การสนับสนุนสถานที่ฝึกอบรม ร่วมจัดฝึกอบรม และออกวุฒิบัตรร่วมกัน เพื่อมอบให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ใช้ประกอบเป็นหลักฐานการผ่านการฝึกอบรมที่มีการรับประกันด้านคุณภาพการฝึกอีกด้วย ช่างประจำร้านจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 18,000 บาท ส่วนช่างที่ประกอบอาชีพอิสระ รายได้ขึ้นอยู่กับวัสดุอุปกรณ์ กรณีที่คิดค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 บาท
"ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นสัญญาณบวกที่ภาคเอกชนสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจต่อมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงขอให้มั่นใจว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถานประกอบกิจการ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป" นางสาวไพลิน กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน