AICute นวัตกรรมจุฬาฯ ประเมินโอกาสเป็น Stroke จากโรคหัวใจ รักษาตรงจุด ลดความเสี่ยงพิการและเสียชีวิต

จันทร์ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๓ ๑๔:๔๘
ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา AICute นวัตกรรรมตรวจประเมินโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ มุ่งช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์

ในแต่ละปี คนไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หลายคนเสียชีวิตและอีกจำนวนมากต้องพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็ใช่ว่าจะตรวจประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ได้

ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยตรวจประเมินโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในลำดับแรก ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตรวจประเมินความเป็นไปได้ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ โดยให้ชื่อว่า "AICute" ซึ่งทีมวิจัยหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ

อุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองแนวโน้มสูงขึ้น

ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกกันว่า Stroke ราว 250,000 คนต่อปี หรือกล่าวได้ว่าในทุก ๆ 2 นาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 1 คน! ในจำนวนนี้ 30% อาจเสียชีวิต อีก 30% พิการรุนแรง ขยับแขนขาไม่ได้ ปากเบี้ยว ส่วนผู้ป่วยอีก 40% มีโอกาสกลับคืนสู่สภาพปกติหรือมีอาการของโรคเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย

แม้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 50-60 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด รับประทานอาหารไม่สมดุล และมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคนอนกรน และโรคหัวใจ

โรคหลอดเลือดสมองที่มาจากโรคหัวใจ พบก่อน ป้องกันได้

แม้โรคหลอดเลือดสมองจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากรู้สาเหตุที่ก่อโรค และเข้ารับการรักษาได้เร็ว โอกาสหายจากโรคก็มีสูงและลดการเกิดโรคซ้ำได้

"การหาสาเหตุของโรคสำคัญต่อการให้แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากไม่หาสาเหตุ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ซ้ำ และเมื่อเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 โอกาสที่จะพิการก็มากขึ้น ทำให้ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นภาระของผู้ดูแลและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็เพิ่มขึ้นด้วย" นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าว

โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ (อ่านเพิ่มเติมใน information box) ซึ่งแต่ละสาเหตุก็มีแนวทางการรักษาต่างกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่า 18% ของโรคหลอดเลือดสมองมาจากโรคหัวใจ

"ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และชนิดลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือภาวะหัวใจโต ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ และลอยไปอุดตันที่สมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้"

แรงบันดาลใจในการพัฒนา AICute

นพ.วสันต์ อธิบายว่าในการหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากโรคหัวใจนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจหัวใจอย่างละเอียดและอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังขาดแคลนในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล

"โรงพยาบาลเหล่านี้คงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนไปตรวจโรคหัวใจได้ เพราะการตรวจโรคหัวใจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งการส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ก็จะทำให้เกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหัวใจก่อนเป็นอันดับแรก" นพ. วสันต์ หนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม AICute กล่าว พร้อมอธิบายความหมายของชื่อนวัตกรรม AICute ว่า "หากพูดเร็ว ๆ เสียงของ AICute จะคล้ายกับคำว่า acute ซึ่งหมายถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดของโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบรับการรักษา"

นอกจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว นวัตกรรม AICute เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาฯ (Chula UTC)

AICute ใช้งานง่าย ตรวจประเมินผู้ป่วยรวดเร็ว ได้ผลแม่นยำ

AICute เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจ ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดเล็ก สามารถตัดสินใจและเลือกส่งผู้ป่วยตรวจหัวใจได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.วสันต์ อธิบายถึงการใช้งาน AICute ว่า "แพทย์ผู้ใช้อุปกรณ์เพียงล็อกอินผ่านเว็บแอปพลิเคชัน และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ เป็นข้อมูลหลัก ๆ 2 อย่าง คือ อาการของผู้ป่วยกับประวัติบางส่วน และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจำนวน 30-32 รูป ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะมีเครื่องมือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอยู่แล้ว จากนั้นตัวแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาประมวลผล ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แล้วสรุปออกมาเป็นรายงานว่าผู้ป่วยมีความเป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ หลังจากนั้น แพทย์ผู้ใช้งานจะอ่านผลและตัดสินใจว่าจะส่งผู้ป่วยตรวจต่อหรือไม่"

นพ.วสันต์ กล่าวว่า AICute มีความแม่นยำในการประมวลผลและตรวจพบความผิดปกติอยู่ที่ 92-94% โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูงในการประมวลผลกว่า 40,000 ภาพ

เดินหน้าพัฒนา AI หาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยชีวิตคนไทย

นพ.วสันต์ เผยว่าปัจจุบัน AICute ยังอยู่ในเฟสของงานวิจัยและได้เริ่มทดลองใช้งานแล้วภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งได้ผลตอบรับดี เป็นที่น่าพอใจ

"ทางทีมวิจัยมีแผนว่าจะวิจัยต่อในกลุ่มคนไข้จริงเป็นกลุ่มใหญ่และเก็บข้อมูลนอกโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อปรับปรุง AI ให้ดีขึ้น อีกทั้งพัฒนา interface ให้ใช้งานง่าย สวยงาม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ (2566) และเปิดให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจได้ใช้งานและพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยในระยะยาวจะออกเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน"

ในอนาคต ทีมวิจัยยังมีแผนการพัฒนา AI เพื่อตรวจหาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มฐานข้อมูลภาพการเอกซเรย์หลอดเลือด และการฉีดสี เพื่อใช้ในการประมวลผลต่อไป

โรงพยาบาลที่สนใจ AICute สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารภูมิสิริ ชั้น 7 โซน C หรือโทร. 0 2256 4000 ต่อ 80724-5

โรคหลอดเลือดสมอง

สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

1. หลอดเลือดสมองตีบ (หลอดเลือดสมองขาดเลือด) คิดเป็น 80% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ มีการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลทำให้สมองตาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสาเหตุย่อย ๆ ได้แก่30% หลอดเลือดขนาดเล็กมีปัญหา พบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด เบาหวาน20% หลอดเลือดแดงแข็งตัว เช่น หลอดเลือดขนาดใหญ่มีไขมันมาพอกทำให้หลอดเลือดตีบตัน18% มีลิ่มเลือดในสมองอุดตันจากโรคหัวใจ พบในผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและโรคหัวใจที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ ที่จะมีความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจและลอยไปอุดตันที่สมองได้- เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง

2. หลอดเลือดสมองแตก หรือ มีเลือดออกในสมอง อาการรุนแรง คิดเป็น 20% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

อาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองที่มักพบบ่อยและสังเกตง่าย ๆ คือ

"พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น" พูดลำบาก หมายถึง ลิ้นแข็ง ใช้ภาษาผิดปกติ หรืออยู่ดี ๆ ไม่พูด พูดไม่ออก ปากตก หมายถึง หน้าเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน ยกไม่ขึ้น หมายถึง ยกแขนขาไม่ขึ้น มีอาการอ่อนแรง ยกไม่ถนัด นอกจากนี้ ยังมีอาการ ทรงตัวไม่ดี เดินเซ การมองเห็นผิดปกติ

เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือโทร 1669

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๒๕ หอการค้าไทย-อิตาเลียน จัดพิธีมอบรางวัลอันทรงเกียรติ Ospitalit? Italiana ครั้งที่ 11 เชิดชูร้านอาหารอิตาเลียนทั่วไทยที่สะท้อนวัฒนธรรมอิตาเลียนอันโดดเด่นและเป็นเลิศ
๐๘:๒๐ เปิดประตูสู่การเรียนรู้ระดับสากล! ม.ศรีปทุม MOU กับ WCC Aeronautical and Technological College ฟิลิปปินส์
๐๘:๔๑ DEXON คว้างานใหญ่ NDT จากกลุ่ม ปตท.สผ. มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
๐๘:๔๔ ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างยั่งยืน
๐๘:๕๓ วัน แบงค็อก จับมือสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดเวิร์คช็อปร่วมกับศิลปินระดับโลก คาลัม สกอตต์ และ ลอเรน ออลเรด
๐๘:๑๔ PDPC เตือนบริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ไม่ให้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด พร้อมเปิดช่องทางร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน
๐๘:๑๐ สถาบันปิดทองหลังพระฯ บูรณาการร่วมจังหวัดศรีสะเกษผลักดันซ่อมแซมและเสริมศักยภาพแหล่งน้ำในชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพผลิตสินค้าเกษตรและสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
๐๘:๑๗ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัลเกียรติยศ SET AWARDS 2024 ประเภท Highly Commended Sustainability Awards
๐๘:๑๕ Bangkok Art Auction จัดงานประมูลศิลปะส่งท้ายปี The Iconic Treasure 2024 ผลงานกว่า 100 ชิ้น พร้อมชวนชมนิทรรศการก่อนการประมูล ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 พ.ย. 67 ณ
๐๘:๕๐ บินตรงจากแดนปลาดิบเสิร์ฟความอร่อยติดดาวกับเชฟมิชลินสตาร์ 1 ดาว ณ ห้องอาหารอูโนมาส ชั้น 54 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ