นายกฯ ห่วงใยประชาชน กำชับกรมโยธาฯ บูรณาการร่วมกรมทรัพยากรทางทะเลฯหาแนวทางป้องกันตลิ่งริมทะเล แก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ทำกิน ต.เกาะเปริด จ.จันทบุรี

พฤหัส ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๓ ๐๙:๕๑
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดจันทบุรี ติดตามการปฏิบัติราชการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาแนวทาง คัดเลือกรูปแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชน โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต้อนรับ และนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม นายสุวรรณ เจริญพร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ วัดเขาตาหน่วย ตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลทั้งระบบ โดยกำหนดนโยบายการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อวางรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมกับศักยภาพสภาพปัญหาและการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับมอบหมายให้ศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพร้อมเริ่มก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล มาตั้งแต่ ปี 2533 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนริมชายฝั่ง ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานราชการในช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรง ถึงแม้ว่าหลังมรสุมตะกอนทรายอาจกลับมาแต่บ้านเรือนของประชาชน ที่ดินทำกิน เส้นทางสัญจรพังเสียหายไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมได้ ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทุกปี กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันพิจารณาเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะกับสภาพพื้นที่

สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ผลการศึกษาพบว่า มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งเฉลี่ย 2.46 เมตรต่อปี ผลวิเคราะห์ความเปราะบางต่อการกัดเซาะชายฝั่ง (CEVI) มีความเปราะบางในระดับสูง และจากการสำรวจพื้นที่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2564 - 2565 พบว่าชายฝั่งบริเวณนี้ประสบปัญหาการกัดเซาะคันบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีโครงสร้างคันบ่อหลายแห่งเสียหาย และยังพบแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นมีสภาพชำรุดเสียหาย โดยประชาชนเจ้าของที่ดิน ที่อยู่อาศัย รีสอร์ทและร้านอาหารบริเวณพื้นที่ชายฝั่งบางส่วน ได้มีความพยายามในการดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการทิ้งหินกันคลื่นในที่ดินตนเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถปกป้องชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งชายฝั่งถัดเข้ามาอีกจะเป็นแนวถนนเฉลิมบูรพาชลทิต หรือทางหลวงชนบทสาย รย.4036 ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรของประชาชนในพื้นที่และของนักท่องเที่ยว หากแนวป้องกันของภาคเอกชนที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ได้เกิดพังทลายเสียหายลง อาจจะส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะรุกคืบเข้ามายังแนวถนนได้

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าวกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทย ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนิน "โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง" เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบลเกาะเปริด ด้วยการศึกษา สำรวจและออกแบบ พร้อมทั้งจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการ ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันคิด ร่วมกำหนดพื้นที่ ร่วมเสนอแนวทาง และร่วมคัดเลือกรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม โดยได้กำหนดแนวทางและรูปแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ร่วมกัน ด้วยการผสมผสานระหว่างรูปแบบโครงสร้างแข็งทางวิศวกรรมและการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพและการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ บนพื้นฐานการสร้างความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมกับการพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ กรมฯ จะเสนอโครงการฯ ต่อ "คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่" ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีคณะกรรมการที่มาจากนักวิชาการ ภาคประชาชน NGO และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาโครงการต่อไป อย่างไรก็ตามโครงการศึกษาและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตามปณิธาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ของกระทรวงมหาดไทย แล้วยังต่อยอดเรื่องการเสริมสร้างทัศนียภาพของชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม รวมถึงเพิ่มศักยภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้อย่างเท่าเทียม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ

ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ