"เพราะมะเร็งเต้านม รู้เร็ว รู้ก่อน รักษาให้หายขาดได้" จึงเป็นที่มาของภารกิจสร้างความตระหนักรู้ภัยมะเร็งเต้านม ผ่านการประกวด "โครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจำปี 2565" โดยมีมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สานพลังกลุ่มทรู และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ร่วมมือกันสนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจัง พร้อมจัดประกวดรอบชิงชนะเลิศ ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งชมรมในมหาวิทยาลัยราชภัฏกว่า 12 ทีมสร้างผลงานได้อย่างน่าชื่นชม แต่ที่โดดเด่นชนะใจกรรมการ ได้แก่ โครงการสุนันทาร่วมใจ ป้องกันภัยมะเร็งเต้านม ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่พกพาความมั่นใจ และกิจกรรมมากมาย ส่งต่อผลลัพธ์อันน่าทึ่งสำหรับกระตุ้นการรับรู้เรื่องตรวจเต้านม และมีส่วนในการลดอัตราผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในอนาคตได้อย่างมาก
จากสถานการณ์มะเร็งเต้านม ถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก ปัจจุบันมีอัตราจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อายุผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นกลับมีอายุที่น้อยลง ทำให้ต้องกลับมาทบทวนถึงสาเหตุและกระบวนการตรวจเพื่อลดอุบัติการณ์นี้ แล้วก็พบว่า อวัยวะที่เกิดมะเร็งคือเต้านมนั้น ผู้หญิงสามารถที่จะดูแล และคัดกรองหาสิ่งผิดปกติในเต้านมได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น และหากมีการพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้เรื่องการตรวจคัดกรองอย่างถูกต้อง และเข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว จึงเป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่า มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์สื่อสารในวงกว้างให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงไทยได้รับทราบถึงภัยและการดูแลป้องกันการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในเบื้องต้น จึงจับมือร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกันดำเนินโครงการเผยแพร่ความรู้การดูแลเต้านมและการตรวจเต้านมตนเองเบื้องต้น ให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อชุดความรู้สู่ชุมชนทั่วประเทศต่อไป
กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยมะเร็งเร็งเต้านม ตลอดจนการดูแลสังเกต และตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ตัวแทนคณาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าร่วมนำไปขยายผลภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนในทุกพื้นที่ พร้อมต่อยอดสู่การประกวด "โครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจำปี 2565" เพื่อยกระดับสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"เพราะหัวใจของโครงการนี้คือการให้ความรู้กับประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีพื้นที่การศึกษาครอบคลุมทั่วประเทศ มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับภาคประชาสังคม และใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ทั้งยังมีองค์ความรู้ เข้าใจการใช้สื่อทันสมัย ทั้งการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) ระบบบันทึกการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเอง (BSE Application) มีแอปพลิเคชันติดตามอย่างสม่ำเสมอ จนเห็นความต่อเนื่องของการรณรงค์สื่อสารในเขตพื้นที่บริการสร้างความตระหนักถึงภัยมะเร็งเต้านม ส่งผลให้โครงการนี้สามารถช่วยพัฒนาชีวิตคนในชุมชนได้จริง" บุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่า
หลังจากคัดเลือกชมรมที่โดดเด่นทั้ง 12 ทีมเข้ามาเพื่อเฟ้นหาทีมที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งโครงการฯ จะพิจารณาจากการดำเนินงานเข้าถึงชุมชนในพื้นที่ได้มากและมีประสิทธิภาพสูง มีกลยุทธ์ที่ทำให้คนสนใจ และสร้างการรับรู้ต่อเนื่อง มีแผนงานต่อยอดและติดตามผล สามารถใช้งานแอปพลิเคชันอย่างถูกต้องเหมาะสม แก้ไขอุปสรรคในการทำงานได้ดี รวมทั้งมีสปิริต มีความตั้งใจทำงานสูง และเข้าใจเป้าหมายของชมรมและมูลนิธิถันยรักษ์ฯได้เป็นอย่างดี ข้อดีเหล่านี้พร้อมทำให้กรรมการเทคะแนนให้กับทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์มากที่สุด
สำหรับผู้ชนะเลิศโครงการฯ ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่มีคุณสมบัติตรงใจกรรมการมากที่สุด มีจุดเด่นด้านการประชาสัมพันธ์และทำกิจกรรมอย่างครบเครื่อง ทั้งการจัดตั้งเพจ Facebook และ Line open chat และอบรมแกนนำชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ อบรมตัวแทนนักศึกษา 11 คณะ ภายในมหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ในชุมชน ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ แก่สตรีในจังหวัด ออกบูธ และจัดนิทรรศการในโอกาสเทศกาล วันพิเศษ เช่นวาเลนไทน์ วันพยาบาลแห่งชาติ และประกวดการสร้างสื่อ จัดทำคลิปให้ความรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าชื่นใจ เพราะมีคนในชุมชนตระหนักรู้ เข้ามาลงทะเบียน BSE Application มากกว่า 2,000 คน ได้จัดการอบรม E-Learning ไปแล้วกว่า 1,800 คนและมีผู้ผ่านการอบรมมากถึง 1,400 คนเลยทีเดียว
ก้อง-ภาณุวัฒน์ ศิริลพ และบิ๊ก-พรหมพิเชษฐ์ ชาญชัยสกุลวัตร์ นักศึกษาวิทยาลัยและสุขภาพชั้นปีที่ 4 และอันดา-อินทิรา วงษ์ประเสริฐ นักศึกษาวิทยาลัยและสุขภาพชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกันวิเคราะห์จุดแข็งของทีมตนเองที่ทำให้ชนะใจกรรมการได้ นั่นคือ สามารถพัฒนาสิ่งที่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น และนำคำแนะนำกรรมการมาปรับแก้ เช่น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในกิจกรรมต่างๆ การสร้างเครือข่ายในสาขาวิชาต่างๆให้มากขึ้น ดึงศักยภาพในทุกๆคณะ และเจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์เข้าถึงคนในชุมชน พร้อมลงพื้นที่กว่า 14 ชุมชน จนเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสร้างองค์ความรู้และลูกเล่นที่หลากหลาย เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นให้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ รวมทั้งช่วยผู้สูงอายุเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
โครงการนี้ถือเป็นปฐมบท "เผด็จศึกชนะมะเร็งเต้านม" ของ 3 องค์กรระดับประเทศอย่าง มูลนิธิถันยรักษ์ฯ กลุ่มทรู และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม จากปีแรกสานต่อไม่สิ้นสุด โดยวางแผนจะจัดโครงการนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี พร้อมติดตามผล และสานต่อกิจกรรมของทุกทีม โดยจะดึงส่วนดีของทุกทีมเข้ามาปรับใช้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาคัดกรองตรวจมะเร็งเต้านมให้เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในอนาคตให้เป็นศูนย์ให้ได้
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเทปบันทึกภาพการประกวดรอบชิงชนะเลิศฯ ในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 เวลา 15.00 - 17.30 น. ทางช่องทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 37 และ HD 111
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 - 858 - 6279 หรือ www.thanyarak.or.th
ที่มา: ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์