กรมวิชาการเกษตรขานรับนโยบาย "มนัญญา" ขับเคลื่อนแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะผลิตถั่วเขียว มุ่งการเกษตรทำน้อยได้มาก

พุธ ๐๑ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๐:๒๙
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีจากผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร และเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยขับเคลื่อนแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียวมุ่งการเกษตรแบบทำน้อยได้มาก กรมวิชาการเกษตรจึงได้กำหนดจัดงานวันถ่ายทอด "เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียว" ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ ตำบลกองทูล อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์

ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต มีเป้าหมายสำคัญในการใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย ลดการใช้แรงงาน โดยการนำเครื่องจักรกลการเกษตร และเกษตรดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยในตลาดโลก

ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วเขียว เป็นหนึ่งในพืชนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมให้ปลูกในภาวะวิกฤตภัยแล้ง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย สามารถนำไปใช้ในระบบปลูกพืชได้ดี จึงส่งเสริมให้ปลูกทดแทนข้าวนาปรัง หรือปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพราะสามารถใช้ความชื้นที่เหลืออยู่ในดินภายหลังเก็บเกี่ยวพืชหลักได้โดยไม่กระทบต่อผลผลิตมากนัก ปลูกก่อนหรือหลังการทำนา รวมทั้งยังช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูพืชและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ในปี 2564/65 มีพื้นที่ปลูกถั่วเขียว 743,180 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 146 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 108,474 ตัน แต่มีความต้องการใช้ถั่วเขียว 128,000 ตัน เนื่องจากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปวุ้นเส้น แปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ถั่วงอก แป้งถั่วเขียว และเป็นเมล็ดพันธุ์ โดยปี 2564 ประเทศไทยส่งออกวุ้นเส้นจากถั่วเขียว 31,811 ตัน มูลค่ารวม 1,151 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท ตะโกรายไฮดรอลิค จำกัด และหน่วยงานเครือข่าย โดยร่วมดำเนินการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะภายในพื้นที่พื้นที่ 20 ไร่ ในแปลงของ นายไพโรจน์ มณีธรรม ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเขียวบ้านวังชงโค หมู่ที่ 1 ตำบลกองทูล อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเขียวที่สำคัญของประเทศ โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวประมาณ 340,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.7 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ

สำหรับเทคโนโลยีอัจฉริยะที่นำมาใช้ในแปลงเรียนรู้ ได้แก่ เทคโนโลยีการใช้เครื่องปรับระดับหน้าดิน ด้วยระบบ GIS และระบบเลเซอร์ ทำให้พื้นที่มีความสม่ำเสมอ การใช้ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะที่มีต้นทุนต่ำสำหรับวัดค่าอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และความชื้นในดิน สามารถใช้เป็นข้อมูลในการจัดการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อากาศยานไร้คนขับ การใช้เครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชแบบอุโมงค์ลม สามารถประหยัดสารเคมีได้มากกว่าร้อยละ 20 และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าเครื่องพ่นสะพายหลัง 15 เท่า และ การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับติดกล้องหลายช่วงคลื่น เพื่อติดตามตรวจสอบการระบาดของโรคไวรัสใบด่างถั่วเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ที่ให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดใหญ่ การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน จึงเหมาะสำหรับการใช้เครื่องเก็บเกี่ยว คุณภาพแป้งเหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างปมรากกับพืชตระกูลถั่ว และเจริญอยู่ภายในปมรากแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 % โดยปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการพัฒนารูปแบบปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเหลว ซึ่งจะช่วยให้การยึดติดกับเมล็ดพันธุ์ดีขึ้นและใช้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ติดรูจานหยอดของเครื่องปลูกทำให้ใช้สะดวกมากขึ้น

กรมวิชาการเกษตร กำหนดจัดงานวันถ่ายทอด "เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียว" ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งภายในงานจะมีการสาธิตการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเหลว การสาธิตการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับ เครื่องพ่นสารแบบอุโมงค์ลมในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สาธิตอากาศยานไร้คนขับติดกล้องหลายช่วงคลื่นเพื่อติดตามตรวจสอบโรคไวรัสใบด่างถั่วเขียวพร้อมกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัย สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลการเกษตร และผู้รวบรวมผลผลิตถั่วเขียวรายใหญ่ของประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการผลิตและการตลาดอย่างครบวงจร

ในปี 2567 กรมวิชาการเกษตรจะขยายผลเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่ปลูกอื่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวในพื้นที่ใกล้เคียงตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเขียวของประเทศเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของชุมชนและประเทศดีขึ้น รวมทั้งเป็นต้นแบบในการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตพืชอื่นต่อไป

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่