โดยมี ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอบ้านไร่ นายสมิทธิ ว่องไพฑูรย์ ผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรม น้ำตาลบ้านไร่ จำกัด นายไพฑูรย์ ฟักเขียว ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ สมาคมชาวไร่อ้อยอำเภอบ้านไร่ และภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 150 คน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) ได้เสนอ "โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำเกษตรกรรมหลากหลายชนิด โดยมีพื้นที่สำหรับการปลูกอ้อย รวมมากกว่า 3 แสนไร่ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากเป็นอันดับที่ 4 ของพื้นที่เขตภาคกลาง อีกทั้งอ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่มีผลผลิตติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ "เกษตรกรอุ่นใจด้วยกรมธรรม์ประกันภัยอ้อย" มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น รวมถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบประกันภัยโดยตรงกับความต้องการ และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าถึงระบบประกันภัย ตลอดจนสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ นายประเสริฐ วณิชชากรวิวัฒน์ เกษตรจังหวัดอุทัยธานี นายบุญเลิศ มักสิก ผู้จัดการฝ่ายไร่ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด นางสาวทัศนวรรณ เชาว์ดำรงสกุล หัวหน้ากลุ่มกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับบุคคล สำนักงาน คปภ. นายจักรพันธุ์ รอดอ่อง เกษตรกรชาวไร่อ้อย และนางสาวอภิญญา เฮงประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันภัย บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในประเด็นต่าง ๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชอ้อย พื้นที่การปลูกอ้อยของเกษตรกร ปัญหาของการปลูกอ้อยจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ความเป็นมาของการพัฒนาประกันภัยอ้อย ความคุ้มครอง รูปแบบการรับประกันภัย การเคลมประกันภัย ทิศทางและแนวทางในการพัฒนารูปแบบการดำเนินการกรมธรรม์ประกันภัยอ้อยในอนาคต ทั้งนี้ วิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่าการประกันภัยอ้อยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งการทำประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวร์รันส์) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตาม "โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์" ก็สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ด้วย
ที่มา: ชมฉวีวรรณ