วว. จับมือ กรมประมง นำ วทน. ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรไทย มุ่งวิจัยพัฒนา/ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

พุธ ๐๘ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๕:๐๒
ศ .(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาด้านการประมง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมง พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื้อจุลินทรีย์เพื่อการประมง มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โดยมี ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. และ นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นสักขีพยาน

ศ .(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงความสำคัญในความร่วมมือฯ ระหว่าง วว. และกรมประมงว่า จะร่วมวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื้อจุลินทรีย์เพื่อการประมง มุ่งเน้นวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื้อจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงและผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น สนองความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการนำเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมและสาธารณประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เพื่อยกระดับการประมงไทยให้แข่งขันได้โดยใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล

"...ที่ผ่านมา วว. และกรมประมง ได้ร่วมพัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพ หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และได้ขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ พร้อมนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้เพื่อช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์และลดปริมาณเชื้อก่อโรคในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำลงได้ ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ศ .(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือกับกรมประมงในครั้งนี้ วว. จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ที่มีมากกว่า 40 ปี ในการรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์มากกว่า 10,000 สายพันธุ์ ผลงานวิจัยและบริการด้านจุลินทรีย์อย่างครบวงจร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ วว. ได้จัดสร้างขึ้น มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

ศูนย์จุลินทรีย์ (TISTR Culture Collection) แหล่งรวบรวมเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นกำเนิดที่มีประโยชน์ในการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 : 2008 นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยบริการด้านจุลินทรีย์ (service culture collection) แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย UNESCO เมื่อปี 2519

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center : ALEC) วิจัย พัฒนา บริการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายอย่างครบวงจร ปัจจุบันรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืด/น้ำเค็มขนาดเล็ก พร้อมจัดทำฐานข้อมูลกว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-400,000 ลิตร

ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 1 (Innovative Center for Production Industry microorganisms : ICPIM 1) วิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้วยมาตรฐาน GMP ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติก/พรีไบโอติกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย บริการห้อง Bioprocess เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งและธนาคารโพรไบโอติก

ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 2 (Innovative Center for Production Industry microorganisms : ICPIM 2) บริการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่เพื่อการเกษตร (สารชีวภัณฑ์) ในระดับห้องปฏิบัติการและทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม "...วว. เชื่อมั่นว่าด้วยความพร้อมทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะช่วยผลักดันให้ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานของ วว. ที่มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG โมเดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบนฐานทรัพยากรของประเทศ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน พร้อมดำเนินการเชิงบูรณาการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาภาคเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ล้วนแต่ส่งผลทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรไทยตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการกรมประมงศึกษาวิจัยด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมสู่ความยั่งยืน

"หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1" เป็นหนึ่งในผลงานของกรมประมงและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่ได้ร่วมกันศึกษาประสิทธิภาพของจุลินทรีย์เพื่อนำมาใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่ปี 2547 และได้ขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ โดยตั้งชื่อว่าหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ ปม.1 ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ และลดปริมาณเชื้อก่อโรคในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและในสิ่งแวดล้อม ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำลงได้ ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาวะปัจจุบันเชื้อก่อโรคยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น กรมประมงจึงได้มีการพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันและควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารได้ และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ตลอดสายการผลิตกุ้งทะเล เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกุ้งทะเลให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน ปม.1 และ ปม.2 ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกร ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีส่วนช่วยในการบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากโรคระบาดในกุ้งทะเลและช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้ตามลำดับ

"...การลงนามในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้ของบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน เพื่อร่วมพัฒนาเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อไป..." อธิบดีกรมประมง กล่าวในช่วงท้าย

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ